จากกระแสแฮชแท็กมาแรงในโลกออนไลน์ #ทีมลวกหมี่หยก #ทีมไม่ลวกหมี่หยก ที่โต้เถียงกันอย่างดุเดือด (ปนขำๆ) กันว่า ปกติแล้วกินหมี่หยกในร้านสุกี้ชื่อดัง ต้องลวกเส้นก่อนทานกันหรือไม่ บางคนหยิบเส้นในจานมาลวกในหม้อก่อนทาน บางคนหยิบมาทานเลย โดยอาจจะทานกับน้ำจิ้มสุกี้ หรือน้ำราดเป็ด หรือทานกับเป็ดย่าง หมูแดง หมูกรอบที่สั่งมา
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะอยู่ทีมไหน “หมอผิง” หรือ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล เจ้าของหนังสือ เมื่อหมอติด COOK ได้ให้ความรู้เอาไว้ใน Twitter @thidakarn ถึงการทานหมี่หยกเอาไว้ว่า หมี่หยกที่ทานเลย กับหมี่หยกที่ลวกก่อนทาน ทานแล้วทำให้ร่างกายเรา “อ้วน” น้อยมากแตกต่างกัน
ลวก/ไม่ลวกหมี่หยก แบบไหนทานแล้ว “อ้วน” กว่ากัน?
หมอผิงอธิบายเอาไว้ว่า “ข้อดีของการกินแบบ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก คือ จะส่งผลดีต่อการลดน้ำหนักกว่า #ทีมลวกหมี่หยก เพราะ อาหารประเภทเส้นที่ผ่านความร้อนจนสุกมากกว่า จะมีค่าดัชนีน้ำตาลสูงกว่า ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินมากกว่า”
ทั้งนี้ อาหารประเภทเส้นที่ว่านี้ รวมไปถึงเส้นที่ทำจากแป้งอื่นๆ เช่น บะหมี่เหลือง และอื่นๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หมอผิงทิ้งท้ายเอาไว้ให้คิดว่า สำหรับอาหารประเภทเส้น โดยเฉพาะหมี่หยกแล้ว “ถ้าจัดหลายก้อน ลวก/ไม่ลวกก็อ้วนได้ค่ะ”
วิธีทานแป้งอย่างไร ไม่ให้ “อ้วน”
จริงๆ แล้ววิธีการลดความอ้วนที่ให้ลดี คือการลดอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล ก็ก็ไม่ใช่ว่าให้ลดการทานแป้ง และน้ำตาล 100% เพราะอย่างไรเราก็ต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพียงแต่เราต้องมีเคล็ดลับในการทานแป้งเล็กน้อย คือ
1. เลือกทานแป้งที่เป็นเชิงซ้อน หมายถึง แป้งที่ไม่ได้รับการขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีต (แทนขนมปังขาว” ข้างกล้อง ข้าวแดง (แทนข้าวขาว) เป็นต้น
2. เลือกทานในมื้อเช้า มื้อกลางวัน โดยลดขนาดของแป้งลงในช่วงตอนเย็น (รวมถึงอาหารหวานด้วย)
3. เลือกทานแป้งให้เพียงพอต่อการใช้พลังงานในแต่ละวัน หากในวันนั้นๆ มีกิจกรรมทำไม่เยอะมาก ก็ไม่ควรทานอาหารประเภทแป้งมาก เพราะอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานสูง จึงต้องควบคุมปริมาณที่ทานให้ดี หากรู้ตัวว่ากิจกรรมใน 1 วันมีไม่มาก ก็ไม่ต้องทานมาก
4. ออกกำลังกาย เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้เก็บพลังงานได้มากขึ้น