บุญคุณ…ทวงแล้ว หมดกัน
การที่พูดเอาบุญเอาคุณ จะพูดไปทำไม คนเรามันจะทำให้กันแบบไม่ต้องทวงได้ไหม ทำแล้วทำไมต้องประกาศให้มันบาดใจ แบบนี้คบกันไปก็จิตใจแย่ จะว่าเรื่องเล็กก็เล็กจะว่าเรื่องใหญ่ก็ใหญ่ คนเสพ ติ ดกับการได้หน้า ทำอะไรนิดหน่อยก็อ้างบุญคุณ แบบนี้ใช้กันไปชาตินี้ชาติหน้าไม่หมด
เหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นเพราะรูดซิปไม่ทัน มันกลายเป็นการพูดแบบไม่มีสติ ไม่ผ่านสมอง กลายเป็นคำพูดติดปากไปอัตโนมัติ มันอันตรายต่อใจ..
…ถามว่าทำบุญด้วยกันไหม
ตอบทันที.. ดี ช่วยด้วยก็ได้ (เฮ้ย..บุญใครบุญมัน)
…ถามว่าทำแล้วยัง
ตอบทันที.. เดี๋ยวช่วยทำให้ (ทำอัลไล งานของพี่ พี่ก็ทำซิฮะ)
…ถามว่ากินไหม
ตอบทันที..มะ..เค้าช่วยกินให้ (จะช่วยทำไม กินก็กินดิ)
…ถามว่าโทรศัพท์หา…ละยัง
ตอบทันที..เดี๋ยวโทรให้ฮะ (เอ้า ไปด้วยกันจะช่วยทำไม)
…ถามว่าทำงานด้วยกันไหม
ตอบทันที.. ช่วยทำค่ะ (ได้ทั้งคู่ มีช่วยอีกแน่ะ)
บางที..มันเกิดขึ้นเพราะไม่ตั้งใจ มันติดปากหรือเปล่า…แต่คนฟัง..ถึงสะอึกเหมือนกันนะ
กับคำๆ เดียวว่า “ช่วย” เนี่ย ตกลงใครช่วยใคร จะช่วยทำไม หน้าที่ใครก็ทำไป
คำว่า “ช่วย” มันเชื่อมโยงไปหาบุญคุณทันที…จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ เรื่องแบบนี้รูดซิปบ้างก็ดี ไม่ทิ่มไม่แทง
แต่ถ้าเป็นความตั้งใจ… ขอบอกว่าตัวใครตัวมัน คบน่ะคบได้ แค่ได้..แต่ใจไม่มี.. ดีไม่สุด ก็ได้แค่นั้น
…เนี่ย..ทำมาให้ (ขอหรือเปล่า..ชักงง)
…อันนี้ดีนะ อุตส่าห์บอก (บอกทำไม ไม่ได้ถาม)
…แบบนี้เพื่อคุณคนเดียว (อ้าว กลายเป็นคนพิเศษไปซะงั้น)
…อาหารนี่…สั่งมาเผื่อน้องเลย (จะไหวไหมนี่)
ทำตามใจตัวเอง เป็นภาระคนอื่น แล้วยังมีบุณคุณได้อีก..สุดยอด..คิดได้ไง ไม่ไหวจะเคลียร์
น้ำใจกับบุญคุณมันคนละเรื่องกัน การมีน้ำใจ มันไม่ต้องมี “ช่วย” “อุตส่าห์” “เผื่อ” “เพื่อ” หรอกนะ
คำแบบนี้..มันทวงกันชัดๆ สร้างความปวดใจไม่สิ้นสุด
คนเรานอกจากจะดีกับตัวเองแล้ว.. ดีกับคนอื่น ดีแบบไม่หวังผล ไม่ทวงถาม มันน่าจะสบายกว่านะ
รักกันให้มันจริงๆ หน่อย มีฮิดเด้นอะเจนด้า มันเหนื่อย.. เหนื่อยฟัง เหนื่อยใจ ไปไม่ถูก
ปิดปาก…เปิดใจ.. เรามีอายุไม่กี่หมื่นวัน อย่าทำร้ายกันด้วยคำพูด
มีหลายคนที่ทำให้หลายคนโดยไม่พูด ไม่ทวง…ก็เห็นเขาสบายดี ไม่ร้อนอกร้อนใจตรงไหน…แล้วจะพูดทำไม
เราอยู่ในโลกนี้ได้ก็ช่วยๆ กันทั้งนั้น เป็นเรื่องดี..ที่ไม่ต้องพูด ไม่ต้องทวงถามก็ได้…นะ
12 ประโยค ที่ไม่ควรพูดในที่ทำงาน ถ้าไม่อยากโดนเท
คำว่า คิดก่อนพูด นั้น เราสามารถใช้ได้กับหลายๆ บริบท แน่นอนว่าการทำงานเอง การคิดก่อนพูด เองก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะบริษัท หรือที่ทำงาน ก็เปรียบเสมือนอีกหนึ่งสังคมที่รวบรวมผู้คนไว้หลากหลาย การที่พูดไม่ดี พูดไม่ระวัง รวมไปถึงการพูดไม่รู้จักคิด ย่อมส่งผลต่อกลุ่มสังคมเป็นแน่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ดี หรือแง่ร้ายก็ตาม
1. “นี่ไม่ใช่ปัญหาของฉัน”
เคยเผลอพูดคำเหล่านี้บ้างหรือเปล่า ถึงแม้จะไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่คำนี้จะสะท้อนออกมาว่าคุณไม่สนใจปัญหาของคนอื่น อะไรที่ไม่ใช่งาน ไม่ใช่หน้าที่ คุณจะไม่แยแส แบบนี้ลองเปลี่ยนเป็น “ลองไปถาม คุณ…. เขาน่าจะมีคำตอบที่ดีให้” จะดูดีกว่านะ
2. “แต่เราก็ทำแบบนี้กันมาตลอดนะ”
ประโยคนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าคุณกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าทำงานใหม่ๆ ซึ่งส่งผลให้คนรอบตัวที่อาจจะมีไอเดีย หรือขั้นตอนทำงานที่ดีกว่า รู้สึกว่าคุณกำลังบอกปัดไอเดียเหล่านั้น ลองเปลี่ยนเป็นประโยคว่า “คุณช่วยบอกหน่อยได้ไหม ไอเดียนี้เป็นยังไงบ้าง”
..
3. “ไม่มีอะไรให้ทำแล้วมั้ง”
การพูดคำนี้ออกมา จะทำให้คุณดูเป็นคนที่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ช่างประชด เมื่อหมดงานแล้วก็มิติดตามสนใจผลงานต่อ แบบนี้ลองเปลี่ยนเป็น “ผมติดตรงนี้นิดหน่อย คุณช่วยหน่อยได้ไหม” จะช่วยให้คุณรู้ทางอ้อมว่า ยังมีส่วนไหนที่คุณต้องช่วยเหลือทีมบ้าง
4. “แก้นิดเดียว หนึ่งนาทีก็เสร็จแล้วเนี่ย”
ใครเป็นสายกราฟิกอาจจะมองบน มองแรงกับประโยคนี้ เพราะสื่อได้ว่า คุณไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ในงานที่ให้แก้ (เพราะมองเป็นเรื่องง่ายๆ ทั้งๆ ที่จริงทุกงานต้องการเวลาแก้ทั้งนั้น) ชอบสั่ง ดูเผด็จการ ดังนั้นลองเปลี่ยนมาเป็น “แก้ (หรือเปลี่ยน) ตรงนี้ให้หน่อยนิดนึง แล้วเดี๋ยวมาคุยกันตามเวลานี้นะ”
..
5. “ไร้สาระ”
จัดเป็นประโยคที่ชวนตี หยาบคาย ต้องห้าม และไม่ควรพูดมากๆ โดยเฉพาะเวลาที่คุยงาน หรือประชุมงานอยู่ เพราะดูเหมือนคุณจะไม่มองไอเดียของคนอื่นๆ เลย แถมยังฟังแล้วดูถูกกันอีกด้วย ถ้าปรับเป็นพูดว่า “คุณช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้หน่อยได้ไหม ทำไมไอเดียนี้จึงดี” จะช่วยให้เข้าใจ และเปิดใจในการรับฟังไอเดียมากขึ้น
6. “คุณผิดแล้วล่ะ”
แม้ว่าอีกฝ่ายจะผิดจริง แต่ถ้าคุณไม่มีการอธิบายเหตุผลที่ดีมากพอ ว่า ข้อผิดพลาดนั้นคืออะไร ก็อาจสร้างความผิดใจได้ และอีกฝ่ายก็อาจจะไม่สามารถปรับปรุงตัวได้ หากคุณไม่ชี้จุดที่ควรแก้ไข ดังนั้น ลองปรับคำพูดให้น่าฟังขึ้นอีกหน่อย อีกฝ่ายจะเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น “จุดนี้ฉันยังไม่เห็นด้วยนะ เพราะ…..คุณคิดว่ายังไงบ้างละ?”
..
7. “ฉันขอโทษนะ แต่…”
หลายคนอาจจะงง การขอโทษ การประนีประนอมกันในที่ทำงานอาจจะเป็นเรื่องที่ดีแล้ว แต่รู้หรือไม่ บางคนก็มักจะใช้คำขอโทษในการให้เหตุผลที่แท้จริงเสียมากกว่าต้องการ ขอโทษจริงๆ เพราะแค่คุณพูดว่า “ขอโทษนะ ครั้งหน้าฉันจะพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก” จะดีกว่าการพยายามหาเหตุผล หรือข้อแก้ตัวนั่นเอง
8. “ฉันนึกว่าคุณให้ฉันทำแบบนี้ซะอีก”
คำพูดแบบนี้ ฟังดูแล้วไม่ดีเท่าไหร่ เพราะจะสะท้อนให้เห็นว่าคุณนั้นไม่ได้มีความเข้าใจในตัวงานเลย ทำให้ทำงานผิดพลาด และคลาดเคลื่อนจากที่ตั้งเป้าไว้ในทีม ดังนั้นปัญหาข้อนี้แก้ไม่ยาก เมื่อได้รับมอบหมายงาน ลองเอ่ยปากถามว่า “คุณช่วยบอกได้ไหม ว่างานนี้คาดหวังอะไรจากตัวฉัน (หรือ งานนี้ต้องการให้ฉันทำอะไรบ้าง)” สิ่งสำคัญคือ หากไม่เข้าใจจริงๆ ควรถามผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อไม่ให้งานออกมาผิดพลาดนั่นเอง
..
9. “ฉันว่าฉันทำดีที่สุดแล้ว”
จริงอยู่ที่คำนี้เหมาะไว้ให้กำลังใจตัวเอง แต่บางครั้งคำพูดนี้ เหมาะจะพูดให้กำลังใจคนในทีม ไม่เหมาะจะนำมาพูดเมื่อต้องทำงาน เพราะมันอาจทำให้คุณปิดกั้นการพัฒนาของคุณเองได้ เมื่อพบข้อผิดพลาด ลองเปลี่ยนคำพูดเป็น “มีอะไรที่ฉันปรับปรุงในครั้งหน้าได้บ้าง” เพื่อนำไปพัฒนาตัวเองจะดีกว่า
10. “คุณไม่น่าทำแบบนี้เลย”
เชื่อเถอะ คำพูดในแง่ลบนั้นไม่ทำให้อะไรดีขึ้น แม้ว่าเพื่อนร่วมงานของคุณจะทำผิด ทำพลาดก็ตาม แต่เราก็ต้องรู้จักเลือกคำที่ใช้ด้วย เช่น “ฉันว่าคุณลองทำตามนี้ก่อนดีไหม แล้วเดี๋ยวค่อยมาคุยกันอีกที”
..
11. “ฉันไม่มั่นใจนะ แต่ฉันคิดว่า…”
ข้อนี้แสดงให้เห็นได้ว่าคุณมีความไม่มั่นใจเมื่อต้องเสนอไอเดียต่างๆ ในที่ทำงาน ลองลดความเขินอาย เพิ่มความมั่นใจให้มากขึ้น จะช่วยให้การเสนอไอเดียของคุณดูหนักแน่น น่าเชื่อถือ มากกว่าออกตัวว่าไม่มั่นใจตั้งแต่แรก อย่างการลองเปลี่ยนเป็นคำว่า “ผมคิดว่าเราควรทำแบบนี้ เพราะ…..ดีกว่านะ”
..
12. “งานเยอะเต็มไปหมด ฉันไม่มีเวลาหรอก”
หากงานคุณล้นมือ จริงอยู่ที่การรับงานควรมีลิมิต แต่ผู้ปฏิเสธงานเองก็ควรจะมีศิลป์ในการพูดเพื่อถนอมน้ำใจ และไม่ทำให้คุณแย่เกินไป ด้วยการเปลี่ยนคำพูดดังกล่าว เป็น “ถ้าเป็นงานชิ้นนี้ จะเสร็จตอนเวลา……นะ” เป็นต้น
มีใครเคยลองพูดคำเหล่านี้ดูบ้างหรือเปล่า ครั้งหน้าหากมีเหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นอีก มาลองปรับเปลี่ยนคำพูดกันเถอะ เพราะนอกจากการพูดจาของคุณจะดูดี มีศิลปะมากขึ้นแล้ว คุณยังดูมั่นใจ เป็นคนมีเหตุมีผล ได้อย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย