ยังมีอีกหลายคนที่อยากออกกำลังกาย แต่อาจไม่สะดวกในหลายๆ ด้าน ที่จะเริ่มต้นวิ่ง เข้าฟิตเนส หรือการออกกำลังกายในลักษณะอื่นๆ ทั้งเรื่องของสรีระรูปร่างที่อาจจะอ้วนเกินไปที่จะเริ่มต้นวิ่ง ค่าใช้จ่ายกับอุปกรณ์ฟิตเนสที่สูงเกินไป หรือวิธีการออกกำลังกายในแต่ละอย่างที่อาจจะทำให้เหนื่อยจนเกินไป แต่หากเป็นการ “เดิน” ออกกำลังกาย เชื่อว่าหลายคนน่าจะทำกันได้ไม่ยาก
การเดินออกกำลังกาย ไม่ใช่แค่ลงไปเดิน 10 ก้าวแล้วกลับไปนั่งโซฟานุ่มๆ เหมือนเดิม แล้วจะเรียกว่าเป็นการออกกำลังกาย เพราะถึงแม้ว่าการเดินออกกำลังกายจะง่าย แต่หากจะเดินออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย ก็ต้องเคล็ดลับเล็กน้อย เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากการเดินออกกำลังกายให้ได้มากที่สุด
เดินออกกำลังกายอย่างไรให้ได้ประโยชน์?
– เดินให้ได้ระยะทางราวๆ 10,000 ก้าว ในแต่ละครั้งของการเดิน
– ระยะทางที่เทียบเคียงได้หากไม่อยากนับก้าว คือ 6-8 กิโลเมตร หรือราวๆ 15-20 รอบสนามฟุตบอล
– ก่อนเดิน ควรอบอุ่นร่างกายด้วยการยืดเส้นยืดสาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ
– สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ง่าย เดินสะดวก รวมถึงรองเท้าที่พอดี ไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับเท้า เป็นรองเท้าผ้าใบสำหรับวิ่งก็จะดีมาก
– ขณะเดิน พยายามรักษาความเร็วให้คงที่ ไม่เดินทอดน่อง เดินๆ หยุดๆ หรือเดินเร็วเกินไป สังเกตความเหนื่อยของตัวเองให้อยู่ในอาการหอบเบาๆ มีเหงื่อซึม แต่ยังคงหายใจทัน และพูดได้อยู่
– เลือกทางเดินที่ระดับของพื้นค่อนข้างเรียบเสมอกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการสะดุดล้ม
– หากเกิดเหตุผิดปกติระหว่างเดิน เช่น หน้ามืด ตาลาย หัวใจเต้นแรงเกินไป ฯลฯ ควรหยุดแล้วรีบนั่งพักทันที หากไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
ประโยชน์ที่ได้จากการเดินออกกำลังกาย
– ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ โดยเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บได้น้อยที่สุด
– เพิ่มความกระฉับกระเฉงให้กับกระดูก และข้อ
– ช่วยเผาผลาญพลังงาน และไขมันส่วนเกินได้ดี
– ช่วยให้การทำงานของหัวใจ และปอดดีขึ้น
– ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น
ข้อควรระวังในการเดินออกกำลังกาย
ควรเลือกสถานที่เดินออกกำลังกายที่ปลอดภัย ไม่อยู่ใกล้ถนนที่มีรถขวักไขว่ มีจักรยาน หรือจักรยานยนต์วิ่งบ่อยๆ ปรับระดับความเร็วในการวิ่งให้พอดีกับร่างกายของตัวเอง ไม่เหนื่อยหอบมากจนเกินไป และควรเดินออกกำลังกายเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีเท่านั้น (ไม่มีไข้ หรือเป็นโรคประจำตัวที่อยู่ในภาวะอาการหนัก หรือควบคุมอาการไม่ได้)