คำที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นคือ Phobia โฟเบีย แปลว่าความกลัว หรืออาการหวาดกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป
ความจริงคนเราทุกคนย่อมมีสิ่งที่กลัวเป็นเรื่องปกติ สิ่งนั้นอาจจะเป็นสัตว์ สิ่งของ ความมืด ความสูง ฯลฯ และความกลัวบางอย่างอาจส่งผลดี เพราะจะทำให้เราหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับมัน สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับตัวเองได้ด้วย
แต่ก็มีบางคนที่มีอาการกลัวบางสิ่งบางอย่างมากเกินไปจนส่งผลเสียให้ตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเสียสุขภาพกายและจิต ส่งผลกระทบถึงหน้าที่การงาน ซึ่งอาการนี้อาจเข้าข่ายโรคโฟเบีย หรือเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง สาเหตุของการกลัวของแต่ละคนไม่มีตายตัว อาจจะเกิดจากปมในอดีต เกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีบางอย่างในสมอง เกิดจากพันธุกรรม และพฤติกรรมของคนในครอบครัว บางอาการกลัวเป็นสิ่งที่แปลกและไม่น่ากลัวจนคนทั่วไปอาจจะไม่เชื่อและคิดว่าเป็นเรื่องตลก แต่สำหรับคนที่กลัวจริงๆ เราไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่ามันอาจจะหนักกว่าที่คิด เพราะฉะนั้นควรเลี่ยงการแกล้งคนอื่นจากอาการกลัวเหล่านั้นจะดีกว่า
สามารถแบ่งโรคความกลัวได้เป็น 3 ประเภทหลัก
โรคกลัวเฉพาะอย่าง เป็นความกลัวที่พบได้ทั่วไป เช่น กลัวงู แมลงสาบ กลัวสัตว์เลื้อยคลาน กลัวเลือด กลัวความสูง กลัวความมืด
โรคอะโกราโฟเบีย หรืออาการกลัวสถานการณ์บางอย่างที่อาจจะช่วยเหลือได้ยาก เช่น กลัวที่เบียดเสียด กลัวที่แคบ กลัวการขึ้นเครื่องบิน กลัวห้องที่ไม่มีหน้าต่าง เป็นต้น
โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม รู้สึกกลัวเมื่อตกเป็นที่สนใจของผู้อื่น เช่น การกลัวการพูดหน้าชั้น กลัวการพูดผ่านไมโครโฟน
เราขอพูดถึงโรคความกลัวที่น่าสนใจที่ตอนนี้เราน่าจะได้ยินกันมากขึ้นว่ามันคืออะไร? มีที่มาจากอะไร และมีแนวทางรักษาหรือเปล่า?
Trypophobia หรือ โรคกลัวรู
โรคกลัวรู คือความกลัวอย่างหนึ่งเมื่อเห็นอะไรก็ตามที่มีลักษณะเป็นรูจำนวนมากอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรูหรือนูนขึ้นมา มีจุดโผล่ขึ้นมาจากรู อย่างเช่น เม็ดบัว รังผึ้ง ปะการัง จะทำให้รู้สึกอึดอัด ขยะแขยง ขนลุก มีเหงื่อออก ตัวสั่น คลื่นไส้
หรือ iPhone 11 จาก Apple ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักด้วยรูปลักษณ์ของกล้องสามตัวที่ทรมานใจคนเป็นโรคกลัวรู หรือคนที่ไม่กลัวก็ตามที
สาเหตุของโรคกลัวรู้เกิดจากอะไร?
เกิดจากสมองสั่งการให้เราคิดไปเองว่ารูนั้นอาจทำให้เกิดอันตราย แม้แต่อยู่ในสถานการณ์ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถเกิดอันตรายจากรูนั้นได้ อาจเป็นเพราะประสบการณ์ในอดีต อาจมีความผิดปกติที่เกี่ยวกับการทำงานของสมอง หรืออาจมาจากพฤติกรรมของคนในครอบครัว
แก้อาการกลัวรูยังไงดี
– ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกสบายตัว การหายใจเข้า-ออกลึกๆ เล่นโยคะ ออกกำลังกายที่ต้องเคลื่อนไหว
– รับประทานอาหารมีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
– นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
– ค่อยๆ เข้าใกล้สิ่งที่ตัวเองกลัวทีละนิด เพื่อเป็นการทำตัวให้ชิน และให้รางวัลตัวเองเมื่อสำเร็จไปทีละขั้น
Nomophobia โรคกลัวการขาดสมาร์ทโฟน
หากเป็นในยุคนี้อาการโฟเบียที่กำลังเป็นที่น่ากังวลน่าคือ Nomophobia โนโมโฟเบีย มาจากคำว่า No mobile phone phobia หรืออาการกลัวการขาดสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เราใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน จนเกิดอาการกังวลเมื่อไม่มีสมาร์ทโฟนติดมือ จะเกิดอาการหงุดหงิด กังวลไปก่อนหน้าว่าหากไม่มีโทรศัพท์แล้วจะทำอะไร ต้องคอยจับกระเป๋าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีอาการกังวลที่แตกต่างกันไป บางคนอาจไม่รู้สึกอะไรมากหากไม่มีโทรศัพท์มือถือ แต่บางคนอาจรู้สึกกระวนกระวายเมื่อไม่มีโทรศัพท์ หรือเวลาไม่มีสัญญาณ นั่นอาจเข้าข่ายอาการโนโมโฟเบีย
อาการแบบไหนเข้าข่าย Nomophobia
พกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา เกิดอาการกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัว
เช็กโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันตลอดเวลาแม้ไม่มีเรื่องด่วน
จับโทรศัพท์ตั้งแต่ตื่นนอน และเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน
เมื่อหาโทรศัพท์ไม่เจอจะกังวลมากกว่าหาอย่างอื่นไม่เจอ
เล่นโทรศัพท์ตลอดเวลาในขณะที่ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น กินข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ
กลัวโทรศัพท์หายแม้จะเก็บไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว
ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือ
เล่นหรือคุยกับคนในโทรศัพท์มากกว่าคนรอบข้าง
อาการโนโมโฟเบียไม่เพียงส่งผลด้านจิตใจที่ทำให้เครียดกระวนกระวายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นนิ้วล็อก ทำให้ปวดเมื่อยข้อมือ เส้นเอ็นยึด ไปจนถึงเป็นพังผืด ส่งผลถึงสายตาที่จ้องหน้าจอนานๆ แสงสีฟ้าจากหน้าจออาจทำให้วุ้นในตาเสื่อม ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เกิดอาการปวดเมื่อยที่คอ บ่า และไหล่
แก้อาการ Nomophobia และการติดสมาร์ทโฟนอย่างไรดี?
หากิจกรรมอื่นๆ ที่ได้ทำร่วมกับคนในบ้าน นัดเพื่อนออกไปนั่งคุยหรือไปเที่ยวกัน พูดคุยกับคนแบบต่อหน้าแทนการคุยผ่านแอปพลิเคชัน
ตั้งกฎกับตัวเองว่าจะไม่แตะสมาร์ทโฟนเป็นเวลา 30 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาเรื่อยๆ
กำหนดให้ห้องนอนเป็นที่ปลอดสมาร์ทโฟน เพื่อป้องกันการจับสมาร์ทโฟนทันทีที่ตื่น และเล่นสมาร์ทโฟนจนหลับ
Neophobia โรคกลัวสิ่งใหม่
ปกติจะพบมากในเด็กอายุ 2-6 ปี ที่จะเริ่มเกิดอาการกินแต่อะไรเดิมๆ กลัวที่จะลองกินอาหารแปลกใหม่ แสดงอาการกลัวอย่างเห็นได้ชัดเมื่อต้องลองอะไรใหม่ๆ รู้สึกไม่อยากกลืน หรือถึงขั้นอ้วกออกมา ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขอาจจะติดมาจนโต เป็นอาการที่ต่างจากเด็กเลือกกิน การเลือกกินคือการปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบและเลือกกินแต่สิ่งที่ชอบ แต่หากให้ลองอะไรใหม่ๆ ก็กินได้
อาการนีโอโฟเบียอาจรวมถึงวิถีชีวิตอื่นๆ ด้วยนอกจากการกินอาหาร นั่นคือ การกลัวการใช้ของใหม่ๆ ไม่เต็มใจจะลองอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวว่าจะไปทำลายวิถีชีวิตเดิมๆ
หากเกิดอาการกลัวการกินอาหารใหม่ๆ ในเด็ก ก็จะมีวิธีรักษาอยู่บ้าง แต่ต้องอาศัยบรรยากาศรอบข้างที่ดีตามไปด้วย อย่างเช่นการช่วยกันให้กำลังใจจากครอบครัว การที่พ่อแม่กินของที่ไม่ชอบกินของใหม่ๆ ให้ดูเป็นตัวอย่าง