น้ำดื่มเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีของร่างกาย หากน้ำที่เราดื่มอยู่ทุกวันนี้ไม่สะอาดเพียงพอ อาจทำให้เป็นสาเหตุของโรคติดต่อได้มากมาย ตั้งแต่ท้องร่วง ไปจนถึงอหิวาตกโรค
ดังนั้น เรามาลองเช็กกันดีกว่าว่าน้ำดื่มที่เราดื่มอยู่ทุกวันนี้ สะอาด และปลอดภัยต่อร่างกายเพียงพอแล้วหรือยัง โดย เรารวบรวมข้อมูลจากนายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เอาไว้ดังนี้
5 วิธีเช็ก “น้ำดื่ม” ว่าสะอาด ปลอดภัยต่อร่างกายจริงหรือไม่
1. ค่าความเป็นกรด-ด่าง
มีการกำหนดไว้ว่า น้ำดื่มจะต้องมีค่าอยู่ในช่วง 6.5-8.5 ซึ่งมีความเป็นกรดหรือเบสเพียงเล็กน้อย สามารถดื่มได้ ไม่เป็นอันตราย
2. น้ำตู้หยอดเหรียญ ดื่มได้
จากการสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำบริโภคในปี 2561 ของกรมอนามัยพบว่า มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภค ร้อยละ 40.13 โดยน้ำประปาน้ำตู้หยอดเหรียญและน้ำบรรจุถัง 20 ลิตร มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคมากที่สุด แต่หากพิจารณาจากปัจจัยภายนอกของตู้น้ำดื่มว่ามีการติดตั้งที่ได้ตามมาตรฐานหรือไม่ สามารถเช็กได้ที่ >> 5 วิธีเลือก “ตู้กดน้ำหยอดเหรียญ” ป้องกันโรคติดต่อ
3. น้ำประปา อยู่ในมาตรฐาน
การตรวจวัดมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ ที่ทางกรมอนามัยกำหนด เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำประปานั้น ใช้ตัวชี้วัดในการตรวจสอบมากถึง 21 ตัวชี้วัด ทั้งด้านกายภาพ เคมี แบคทีเรีย ค่าความกระด้าง ค่าความเป็นกรด-ด่าง ฯลฯ มั่นใจได้ว่าน้ำประปาไทยมีคุณภาพดี ทั้งนี้ควรตรวจสอบสภาพถังเก็บน้ำ สายน้ำ ก๊อกน้ำ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในสภาพดี ได้มาตรฐานอยู่เสมอด้วย
4. ดื่มน้ำต้มสุก ปลอดภัยกว่า
สำหรับพื้นที่ทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำสะอาด หากซื้อน้ำอุปโภคบริโภคจากแหล่งที่ไม่มั่นใจในคุณภาพ ก่อนนำมาดื่ม ควรต้มน้ำให้เดือดอย่างน้อย 1 นาที แล้วเก็บในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิดมิดชิด
5. หยดทิพย์ อ.32 ช่วยได้
ส่วนการนำน้ำจากแม่น้ำลำคลอง หรือแหล่งน้ำผิวดินแหล่งอื่นๆ มาใช้โดยตรง ควรปรับปรุงคุณภาพน้ำและฆ่าเชื้อโรคก่อน ด้วยการแกว่งสารส้มชนิดก้อนในน้ำสักครู่ จะเห็นว่ามีตะกอนเริ่มจับตัวที่ก้นภาชนะ ตั้งทิ้งไว้สักพักจนตกตะกอนจนหมด จากนั้นเทเฉพาะน้ำที่ใสแล้วแยกออกมา
จากนั้นนำน้ำใสมาฆ่าเชื้อโรคต่อ ด้วยการใช้หยดทิพย์ อ.32 ของกรมอนามัย ซึ่งเป็นสารละลายคลอรีนชนิดเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วน 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเติมผงปูนคลอรีนตามปริมาณที่กำหนด จากนั้นปล่อยให้มีระยะเวลาฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อย 30 นาที ก่อนนำไปใช้อุปโภคบริโภค