ออฟฟิศซินโดรม เป็นคำที่เรียกรวมโรคที่เกิดขึ้นกับพนักงานออฟฟิศหลายๆ โรค ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอบ่าไหล่ธรรมดาๆ ไปจนถึงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่นอกจากอาการเหล่านี้ ยังมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ รวมถึง โรค “หลังห่อคอตก” ด้วย
โรคหลังห่อคอตก คืออะไร?
โรคหลังห่อคอตก (Text Neck Syndrome) คือการทำกิจกรรมใดๆ นานจนเกิดการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลังช่วงต้นคอ ไล่ลงไปช่วงบ่า ไหล่ ไปจนถึงกลางหลัง
สาเหตุของโรคหลังห่อคอตก
ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือ แท็ลเล็ต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นเวลานาน ศีรษะคนเราหนักประมาณ 5 กก. แค่ก้มหน้า 15 องศาก็จะเพิ่มแรงกดทับกระดูกสันหลังถึง 12 กก. ยิ่งก้มมากก็ยิ่งอันตรายมาก การก้มหน้าลงไปถึง 60 องศา แรงกดทับกระดูกสันหลังจะเพิ่มถึง 27 กก. ยิ่งก้มมาก ยิ่งปวดคอ ปวดบ่ามาก
ก้มหน้าทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และอาจตั้งหน้าจอ วางคีย์บอร์ด และเมาส์ในระดับที่ไม่เหมาะสม
จับพวงมาลัยขับรถยนต์ในระดับที่ไม่เหมาะสม อาจจะวางพวงมาลัยต่ำ หรือสูงไป และขับรถเป็นเวลานาน
ก้มหน้า ห่อไหล่ ก้มหลังเป็นเวลานานจากการทำกิจกรรมอื่นๆ
อาการของโรคหลังห่อคอตก
อาการของโรคหลังห่อคอตก มีตั้งแต่อาการเบาๆ อย่างการปวดเมื่อยคอ สะบัก และบ่าเล็กน้อยหลังจากก้มหน้านานๆ ไปจนถึงกล้ามเนื้ออักเสบ แนวกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกคอเสื่อม ไขสันหลัง รากประสาทบริเวณคอถูกกดทับ จนทำให้เกิดอาการชา หรือขา และมืออ่อนแรงได้
วิธีรักษาโรคหลังห่อคอตก
ทานยาตามคำสั่งแพทย์ เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
ปรับปรุงพฤติกรรมการใช้งาน โดยมองแนวตรงระดับสายตาในหูจะต้องตรงกับหัวไหล่
การออกกำลังกาย นั่งตัวตรง แอ่นไหล่ไปด้านหลัง แล้วดันคางไปด้านหลัง โดยที่ตานังมองไปด้านหน้า และศีรษะไม่ก้มหรือเงย ค้างไว้นับ 1-10 ทำ 10 ครั้ง
ผ่าตัด และทำกายภาพบำบัด ในคนที่มีอาการหนัก
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :รศ.นพ. วรวรรธน์ ลิ้มทองกุล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,นพ. ภัทร โฆสานันท์ ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ-โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี