หลายคนประสบปัญหาทานสับปะรดแล้วแสบลิ้น ชาลิ้น นี่ไม่ใช่สิ่งผิดปกติจากสับปะรดลูกที่เรากำลังทาน ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมที่แม่ค้าใส่ลงไป ไม่ใช่ความผิดใดของร่างกาย เพราะมันคือปัญหาระดับสากลเลยล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการค้างคาใจยาวนาน ตาม Gangbeauty มาเรียนรู้ หาคำตอบเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าว่าแท้จริงแล้วมันเกิดจากอะไรกันแน่!
www.popcornfor2.com
สับปะรดเป็นผลไม้ที่มีความเป็นกรด และมีเอนไซม์โบรมีเลน (Bromelain) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยย่อยสลายโปรตีนอยู่มาก เมื่อมันถูกส่งเข้าไปอยู่ในปาก ทั้งกรดทั้งเอนไซม์เลยช่วยกันทำหน้าที่ย่อยสลายโปรตีน หรือเนื้อเยื่อในช่องปาก ทำให้เรารู้สึกเจ็บ แสบ แถมถ้าทานไม่หยุด แล้วมันย่อยไปจนถึงบริเวณที่รับรส ก็อาจทำให้ลิ้นของเรามีการรับรสที่เปลี่ยนไปได้เลยเหมือนกัน แต่มันไม่ได้น่ากลัวถึงขนาดต้องเลิกทาน เพียงแค่ต้องมีวิธีจัดการกับกรดและเอนไซม์นั้นให้พอดี วิธีก็มีมากมายเลยล่ะจ้ะ
1. น้ำเกลือ
steemit.com
จากงานวิจัยของนักวิจัยไทยในปี 2011 พบว่ากรดและเอนไซม์ในสับปะรดจะมีการทำงานที่อ่อนประสิทธิภาพลงเมื่อเจอเกลือ เพราะน้ำเกลือทำให้กรดลดลง โดยเฉลี่ยความเป็นกรดของสับปะรดจะอยู่ที่ pH 3.5 – 4 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงจนอันตรายต่อลิ้นของเรา แต่เมื่อมันรวมกับเอนไซม์โบรมีเลนก็เลยทำให้รู้สึกแสบ การแช่น้ำเกลือเพื่อลดกรดไม่ให้แสบเยอะก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี แถมความเค็มจากเกลือยังจะช่วยขับให้ความหวานเด่นชัดมากยิ่งขึ้นด้วยนะ
2. ตัดแกน
www.quora.com
หลายคนชอบทานแกนสับปะรด เพราะมันกรุบกรอบ เคี้ยวมันเคี้ยวเพลิน แคลอรีก็ต่ำ แต่รู้มั้ยว่าเอนไซม์โบรมีเลนที่ย่อยเนื้อเยื่อลิ้นของเรามันมีมากที่บริเวณแกนสับปะรดนี่ล่ะ ตัดแกนทิ้งไป ทานแค่ช่วงเนื้อก็พอ
3. แช่เย็น
www.seriouseats.com
ถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่าสับปะรดจากตู้เย็น กับสับปะรดที่ไม่มีความเย็น จะทำให้ลิ้นแสบแตกต่างกันมาก เนื่องจากเอนไซม์โบรมีเลนจะทำงานได้ดีในอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส และจะทำงานน้อยลงในอุณหภูมิต่ำ การทานสับปะรดแช่เย็นจึงเป็นการลดความแสบลิ้นลงได้ แถมยังชื่นใจอีกด้วย
4. ผ่านความร้อน
www.today.com
ถึงแม้ว่าเอนไซม์โบรมีเลนจะไม่ชอบอุณหภูมิต่ำ แต่ถ้าสูงมากจนเกิน 80 องศาเซลเซียส มันก็ทนไม่ได้เหมือนกัน และจะสูญเสียความสามารถในการย่อยโปรตีนไปเลย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะทานพิซซ่าหน้าฮาวายเอี้ยนได้ยาวๆ โดยไม่รู้สึกแสบลิ้นอะไรเลยยังไงล่ะ
เย็นนี้คงต้องกลับไปโดนสักชิ้นใหญ่ๆ แล้วล่ะ!