สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาอ่านเรื่องที่หลายๆคนอาจจะกำลังสงสัยกันอยู่ เกี่ยวกับกรณีของโรคดึงผม ชอบถอนผมตัวเอง อาการแบบนี้จะเข้าข่ายจิตเวชหรือไม่ วันนี้เราไปดูกันครับผม
โรคดึงผม คืออะไร อาการเป็นอย่างไร
โรคถอนผมตัวเอง(โรคดึงผม) เป็นภาวะผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง และเป็นนิสัยหรือพฤติกรรมที่ย้ำคิดย้ำทำ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว สามารถจำแนกได้ 2 ประเภท
– อาการดึงผมที่รู้ตัว : อาจเกิดได้จากความรู้สึกคันศรีษะ หรือรู้สึกว่าผมไม่เรียบตรง เลยมีความอยากที่จะดึงออกเพื่อสร้างความสะบายใจ หรือในบางครั้งก็เป็นอาการกังวลและเครียดมาก่อน พอได้ดึงผมก็รู้สึกฟิน ผ่อนคลาย
– อาการดึงผมที่ไม่รู้ตัว : มักจะถอนผมตนเองโดยที่ไม่รู้ตัวในขณะที่กำลังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เพลินๆ เช่น ดูYoutube อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ บางคนถอนจนถึงขั้นผมร่วงแทบจะทั้งหัว หรือหายเป็นหย่อมๆ จนมีลักษณะผมแหว่ง
โรคนี้พบได้ประมาณ 1-2% ในประชากรทั่วไป โดยส่วนใหญ่จะพบในวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ และเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนบริเวณที่พบการดึงและถอนขนได้บ่อยก็คือ เส้นผม หรือขนตามตัว (ขนตา, ขนจมูก, ขนหน้าอก, ขนเพชร, คิ้ว)
สาเหตุเกิดจาก
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่สันนิษฐานได้ 5 ข้อต่อไปนี้
1. จากพยาธิสภาพของโรคเอง คือ มีความผิดปกติในสมองส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงออกของพฤติกรรม
2. จากพยาธิสภาพทางจิตใจ เกิดความเครียด
3. จากปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางด้านสังคม การดำรงชีวิตอยู่ในสังคม
4. จากภาวะโรคจิตเวชบางอย่าง เช่น มีพฤติกรรมวิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ หรือการเป็นโรคซึมเศร้า
5. พันธุกรรม เช่น อาจมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคดึงผมเหมือนกัน
วิธีรักษา
1. รักษาอาการผมร่วงกับแพทย์ผิวหนัง
2. ใช้แชมพูและสระผมตามสภาพผม
3. หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำร่วมกันในครอบครัว
4. ป้องกันการถอนผมตนเอง หาหมวกคลุมผมเวลาอาบน้ำ ผ้าคลุมผม หมวก มาคลุมที่ศีรษะ เพื่อป้องกันการดึงผมตนเอง
5. ทำบันทึกตารางที่ถอนผม เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับอาการที่กำลังเป็นอยู่
6. ปรึกษาจิตแพทย์
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือ ควรรักษาร่วมกับพฤติกรรมบำบัดจะได้ผลดีที่สุด และคนใกล้ตัวก็มีส่วนช่วยรักษาได้ ไม่ควรดุด่า เวลาที่ผู้ป่วยทำพฤติกรรมเหล่านี้ แต่ควรเปลี่ยนเป็นช่วยกันเตือนและให้กำลังใจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด