ว่ากันว่าคนเรามีวิธีเอาตัวรอดที่ไม่เหมือนกันทุกคน แล้วความคิดเห็นที่แตกต่างก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์โลกไปเสียแล้ว แต่จะดีกว่าไหม ถ้ามีวิธีที่จะไม่ทำให้คุณไม่ต้องไปไฝว์กับใครที่คุณไม่เห็นด้วย และนี่ก็คือ 5 ข้อพึงกระทำ เมื่อไม่เห็นด้วยกับความคิดคนอื่น?
1. รับฟังอย่างใจเย็นเข้าไว้
เมื่อคุณได้ยินคำพูดมากมายเหล่านั้นจากอีกฝ่าย และคำพูดเหล่านั้นอาจกำลังทำให้คุณไม่พอใจเนื่องจากคุณคิดว่าสิ่งที่อีกฝ่ายพูดมาเป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์ แตกต่างจากที่คุณรับรู้และเข้าใจมาโดยสิ้นเชิง เมื่อรู้แบบนี้สิ่งที่คุณพึงกระทำนั้นก็ไม่ใช่การโต้เถียง หรือออกความคิดเห็นในมุมของตัวเองในทันที ซึ่งแน่นอนการทำแบบที่ว่าอาจขัดแย้งเอาได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่คุณทำคือควรใจเย็นและใช้สติให้มากที่สุด รับฟังจนกว่าอีกฝ่ายจะพูดจบ หากใช้ความใจเย็นในวินาทีนั้นได้ การปะทะอาจไม่เกิด ระหว่างนี้สมองของคุณอาจตีกันเองเพราะไม่เห็นด้วยแต่ความใจเย็นจะบรรเทาให้คุณคิดช้าลงได้ในตอนนั้น
2. ตรองดูว่าที่อีกฝ่ายพูดอยู่? มันใช่สาระสำคัญในชีวิตคุณหรือเปล่าล่ะ!?
หลังจากฟังอยู่นานสองนาน ก็ลองไตร่ตรองก่อนว่า เรื่องที่อีกฝ่ายพูดนั้นส่งผลลบ หรือกระทบต่อคุณหรือไม่ หากไม่ส่งผลลบต่อใครหรือเป็นเรื่องเล่นๆ ประเด็นขี้ปะติ๋วก็ปล่อยผ่านไปเถอะนะ เพราะถ้าจะมัวแต่คิดว่าทุกเรื่องที่ได้ยินนั้น เป็นสิ่งที่ต้องเคลียร์ให้กระจ่างทั้งหมดก็คงไม่ส่งผลดี แน่นอนถ้าคุณตัดความรำคาญในเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญออกไปได้ คุณก็จะมีความสุขใจสงบและไม่ต้องเข้าไปไฝว้!! เพื่อแจงความจริงในเรื่องที่ไม่ใช่ทำลายภาพลักษณ์ของคุณหรือใครทั้งนั้น
3. มองเป็นกลางก่อนดีกว่า
ไม่มีใครสามารถตัดสินใครได้หรอกค่ะ ว่าเรื่องเหล่านั้นใครพูดได้ถูกต้องที่สุด เพราะทุกๆ ฝ่ายล้วนมีวิธีคิดที่ต่างกันออกไป คนที่สนิทกับคุณมากที่สุดยังคิดไม่ตรงกับคุณได้เลย แล้วนับประสาอะไรกับคนอื่น เหตุผลนี้แหละที่ควรเอาใจเป็นกลางเพื่อลดความขัดแย้ง พยายามอย่าคิดไปเองว่าสิ่งที่คนอื่นพูดนั้นเป็นสิ่งไม่ดี ให้มองเป็นกลางเข้าไว้ลดทิฐิลงได้จะยิ่งดีมาก ดังนั้นจึงควรวางความคิดให้เป็นกลางมากที่สุด
4. ลองถามเหตุผลที่คุณไม่เห็นตรงกับเขาดู
หากอีกฝ่ายยิ่งเข้าประเด็นไม่น่ารักมากขึ้นเรื่อยๆ ให้คุณถามถึงเหตุผล(อย่างใจเย็น?) สิ่งสำคัญในการถามคำถามในขณะที่คุณไม่เห็นด้วยจนอยากปะทะ คือคุณควรใช้น้ำเสียงที่สุภาพและสงบแต่ไม่แข็งกร้าว แววตาและสีหน้าก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ ที่จะส่งผ่านให้อีกฝ่ายจะรับรู้ว่าคุณถามเพราะอยากรู้หรือไม่เห็นด้วยกันแน่ ซึ่งแน่นอนคุณไม่ควรแสดงออกถึงความไม่พอใจออกมา เพราะไม่อย่างนั้นคำตอบที่ได้อาจเป็นการประชด มากกว่าจะได้ความคิดเห็นที่แท้จริงจากคนตอบนะคะ
5. สุดท้ายก็ถึงเวลาที่ต้องแสดงความคิดเห็นบ้างล่ะ
การที่ไม่เห็นด้วยกับใครก็ไม่ได้แปลว่าคุณต้องเงียบ และไม่ควรแสดงความคิดของคุณหรอกนะคะ เมื่อถึงเวลาที่ต้องแสดงความคิดเห็น แม้จะต่างกันแค่ไหนก็ควรพูดเพื่อแสดงจุดยืนออกไป ไม่อย่างนั้นอีกฝ่ายอาจคิดว่าคุณโอเค หรือคุณคิดเหมือนกัน บางทีอาจจะยิ่งไปกันใหญ่กลายเป็นถูกเข้าใจผิด แต่บอกก่อนว่านี่เป็นจุดเสี่ยงเหมือนกันนะ เพราะเหมือนเป็นการประกาศว่าทั้งหมดที่คุณฟังเขามา คุณไม่ได้คล้อยตามหรือเห็นด้วย แต่มันแสดงว่าคุณกำลังคิดต่างมากน้อยเพียงใด? ซึ่งการแสดงความคิดเห็นจากปากคุณต้องไม่มีการพาดพิงใครทั้งสิ้น ไม่อย่างนั้นทั้งหมดที่คุณอดทนเป็นกลางมา ถือว่าจบเห่แน่นอน! ให้คุณอธิบายความคิดเห็นให้คู่สนทนาฟังรวมถึงเหตุผลด้วย
ต้องบอกก่อนว่าอย่าได้คาดหวังว่าอีกฝ่ายจะเปลี่ยนมาคิดเหมือนกับคุณนะ เพราะอย่างที่บอกว่าคุณแค่แสดงจุดยืนที่คุณมีให้คู่สนทนาฟัง ไม่ใช่เพื่อต้องการโน้มน้าวหรือให้ใครเปลี่ยนทัศนคติตอนนั้นตามคุณนะคะ