เดินเข้าซูเปอร์มาร์เกต เดินเข้าโซนอาหารของสด แม่ขา ตู้นั้นเขียนแช่เย็น ตู้นี้เขียนแช่แข็ง แบบไหนมันควรซื้อมากกว่าล่ะคะเนี่ย Gangbeauty เองก็เคยสับสน งงๆอยู่เหมือนกัน ไม่รู้ว่าควรต้องเลือกซื้อแบบไหนกันแน่ แต่ตอนนี้ไม่แล้วล่ะ ทำการค้นหาคำตอบมาเรียบร้อย แล้วพบว่าแช่เย็นกับแช่แข็งเนี่ย ไม่เหมือนกันเลย
แช่เย็น คือแช่ไว้ในอุณหภูมิเหนือ 0-5 องศาเซลเซียสไปหน่อย เป็นการถนอมอาหารแบบที่ป้องกันการเจริญเติบโตจุลินทรีย์ทั่วไปได้ แต่ต้องระวัง ถ้าจะซื้ออาหารแช่เย็น ต้องดูด้วยว่ามันต้องมีการขนส่งมั้ย เพราะถ้าขนส่งนานไป ไอ้ของแช่เย็นนั้นก็จะมีแต่จุลินทรีย์มากมายที่ก่อตัว สุดท้ายก็เน่า ถ้าซื้อของแบบนี้มา ให้พยายามรีบกินให้ไวที่สุด
ของที่แช่เย็นได้: ปลา ห่อด้วยฟิล์มถนอมอาหาร วางบนชามน้ำแข็งแล้วแช่ เมื่อไหร่น้ำแข็งละลาย ให้เปลี่ยนน้ำแข็ง วิธีนี้เก็บปลาเป็นตัวได้ยาวนานถึง 3 วัน แบบแล่แล้วได้ถึง 2 วันโดยที่ความสดยังเหมือนวันแรกที่เราซื้อมา
หอยยังไม่ตาย สดใช่มั้ย แต่ยังไม่อยากกินวันนี้ก็ยืดอายุขัยของหอยไปอีกด้วยการใช้ทิชชู่เปียกน้ำหมาดๆ ห่อหอยเอาไว้ วางบนชามแล้วแช่ตู้เย็น 1-4 องศาเซลเซียส หอยจะมีชีวิตได้อีก 10 วัน! แต่อย่าปิดฝาล่ะ เดี๋ยวน้องหอยไม่มีอากาศหายใจ
นมแม่ อันนี้ไม่จำเป็นต้องเข้าช่องฟรีซ แบบกลัวนมไม่สด บูดแล้วลูกจะท้องเสียนี่ไม่ต้องกังวล เพราะถ้าเก็บในช่องใต้ช่องฟรีซจะดีมาก อยู่ได้ 8 วันเลยแหละ ไม่บูด แถมยังสดใหม่เหมือนดูดออกจากเต้าเมื่อกี้นี้
แช่แข็ง คือแช่แบบเป็นน้ำแข็ง วิธีนี้มาจากการถนอมปลาให้สดอยู่เสมอแบบชาวเอสกิโมนั่นเอง โดยของแบบนี้อะดี รักษาความสดได้ดี ยาวนาน สมมติปลาหมึกหั่นแว่นจากโรงงานวันที่ 10 แช่แข็งมาถึงมือเราวันที่ 13 ปลาหมึกที่ได้ก็ยังสดเหมือนวันที่ 10 อยู่ คือดีอะว่าง่ายๆ แต่ราคาก็สูงกว่าด้วย
ของที่ควรแช่แข็ง: เนื้อสัตว์ ซื้อมาแล้วรีบเอาเข้าช่องฟรีซอย่างด่วน ถ้าอยากเก็บให้ได้นาน ปรับอุณหภูมิให้เย็นจัดไปเลย เอาแบบน้ำแข็งเกาะยิ่งดี
หมึก กุ้ง ส่วนใหญ่จะขายเป็นถุงใหญ่ เอาออกมาปรุงอาหารไม่เคยหมด ไอ้ส่วนที่จะเก็บต่อก็ต้องห่อด้วยฟิล์ม แล้วค่อยเอาเข้าช่องฟรีซ
ผักผลไม้ จะเห็นพวกเบอรี่ต่างๆ ผลไม้นอกต่างๆในซูเปอร์มาร์เกตเป็นแบบแช่แข็งมา ถ้าซื้อแบบนี้มานะ กลับมาห้องยังไงก็ต้องโยนเข้าช่องฟรีซเหมือนเดิม อย่าให้น้ำแข็งละลาย คุณค่าจะอยู่ยั้งยืนยง
เรื่องกิน ต้องเคร่งครัด เราจะต้องเป็นหมูที่แข็งแรง!