ในสภาวะอากาศร้อนๆ ในบ้านเรา การเก็บอาหารในตู้เย็นจึงเป็นวิธีที่สะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพมากกว่าการเก็บอาหารในตู้กับข้าวอุณหภูมิปกติ แต่กับข้าวแช่ตู้เย็นจะอยู่กับเราไปได้อีกนานเท่าไรกัน
เก็บอาหารด้วยวิธี “แช่แข็ง” จะอยู่ได้นานเท่าไร?
1. ประเภทของอาหาร
อาหารบางประเภทสามารถเก็บเอาไว้ได้นานโดยไม่ต้องเอาเข้าตู้เย็นเลยด้วยซ้ำ เช่น ผลไม้ตากแห้ง ปลาตากแห้ง หอม กระเทียม และขนมแห้งอื่นๆ แต่อาหารบางชนิดก็แทบจะมีอายุน้อยมาก ยิ่งโดนอากาศร้อนๆ ก็ยิ่งเสียง่าย เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของนม กะทิสด เช่น แกงเขียวหวาน รวมถึงอาหารรสหวานก็จะเน่าเสียง่ายกว่าอาหารรสเค็ม และอาหารที่ม่ีความเป็นกรด เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว จะเสียยากกว่าอาหารอื่นๆ ดังนั้นลักษณะของอาหาร ถ้าแห้ง ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลมากนัก และมีส่วนผสมที่ไม่บูดเน่าหรือเสียง่าย ก็จะอยู่ได้นานกว่าอาหารอื่นๆ
2. วิธีการเก็บอาหารหลังทำเสร็จ
อาหารจะมีระยะเวลาในการทาน หรือเก็บรักษาได้ยาวนานมากขึ้น ขึ้นอยู่กับวิธีเก็บรักษาอาหารหลังทำอาหารเสร็จ
– อาหารที่ทำเสร็จใหม่ๆ ควรทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท ก่อนนำเข้าตู้เย็น
– อาหารที่ทำเสร็จไว้นานแล้ว เช่น กับข้าวทำสำเร็จตามร้านต่างๆ ก่อนทานควรอุ่นให้เดือดเกิน 100 องศาเซลเซียสก่อน 1 ครั้ง ทานด้วยช้อนกลาง เมื่อทานเสร็จเทใส่ภาชนะที่มีฝาปิด แล้วนำเข้าตู้เย็น
อย่างไรก็ตาม หากเป็นอาหารที่ซื้อมาทานจากร้านข้างนอก มีความเป็นไปได้ว่าจะเก็บรักษาได้ไม่นานเท่าอาหารที่ทำเองใหม่ๆ เพราะทางร้านอาจทำเอาไว้นานแล้วก่อนที่เราจะไปซื้อมาทาน โดยเฉพาะร้านข้าวแกง หรือร้านขายกับข้าวที่ใส่ภาชนะเหล็ก ใส่หม้อใหญ่ๆ ที่อาจไม่ได้อุ่นให้เดือดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากเป็นกับข้าวจากร้านอาหารนอกบ้านที่ทำไว้ก่อนล่วงหน้า ก็ไม่ควรเก็บเอาไว้นานเกิน 2-3 วัน เพราะมีระยะเวลาที่ทิ้งเอาไว้นานกว่าเราจะรับประทาน และเก็บเข้าตู้เย็น ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสียเริ่มก่อตัวขึ้นได้แล้ว
3. ความสมบูรณ์ของตู้เย็น
การจะเก็บอาหารให้ได้ยาวนานนั้น อุณหภูมิเป็นเรื่องสำคัญมาก หากอากาศเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียมาก ก็ย่อมมีโอกาสที่อาหารของเราจะบูดเน่าได้ไวกว่า ซึ่งโชคร้ายที่อุณหภูมิร้อนชื้นของบ้านเราเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมของเชื้อแบคทีเรียหลายๆ ตัว ทั้งซาลโมเนลลา อีโคไล สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ และอื่นๆ ที่ทำให้ท้องเสีย ท้องร่วง หรืออาจเป็นโรคอาหารเป็นพิษได้
นอกจากนี้ หากเก็บรักษาอาหารเอาไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เย็นมากเพียงพอ ก็อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียยังคงเจริญเติบโตได้อยู่ และทำให้อาหารของเราเน่าเสียได้ในระยะเวลาสั้นๆ เช่นกัน
ดังนั้น การเก็บอาหารเอาให้ได้นานๆ ต้องทำภาชนะใส่อาหารพร้อมฝาปิดแน่นๆ เข้าช่องแช่แข็งที่มีความเย็นมากกว่า -10 องศาเซลเซียส แช่เอาไว้จนเป็นแข็งโป๊ก ยิ่งแข็ง ยิ่งเย็น ก็ยิ่งเก็บเอาไว้ได้นานขึ้น (ขึ้นอยู่กับลักษณะของอาหาร และระยะเวลาของเชื้อแบคทีเรียที่อาจเข้ามาทำปฏิกิริยากับอาหารก่อนแช่แข็งด้วย)
เคล็ดลับอีกอย่างสำหรับตู้เย็นคือ ไม่ควรเปิดตู้เย็นบ่อยจนเกินไป และไม่ควรใส่ของจนแน่นเกินไป เพราะถึงแม้เราจะตั้งค่าความเย็นเอาไว้เย็นมากๆ แล้ว แต่หากมีของ หรืออาหารในตู้เย็นแน่นจนเกินไป ก็ทำให้อุณหภูมิในตู้เย็นไม่เย็นเท่าที่ควรจะเป็น ลองนึกถึงห้องแอร์ที่มีคนอัดแน่นเต็มไปหมด แม้ว่าจะเปิดแอร์หนาวมากแล้ว แต่คนก็ยังร้อนอยู่ เพราะความเย็นไม่เพียงพอต่อจำนวนคนนั่นเอง
4. ติดป้ายบอกเวลาเก็บให้ชัดเจน
ก่อนตั้งใจเก็บเข้าตู้เย็นเป็นเวลานานๆ ควรแปะป้าย หรือเขียนลงบนภาชนะให้ชัดเจนว่าเริ่มเก็บเข้าตู้เย็นตั้งแต่เมื่อไร เพราะผ่านไปนานๆ หลายวันก็อาจลืมได้
อายุคร่าวๆ ของอาหารในตู้เย็น
เนื้อสัตว์
– ในตู้เย็นช่องธรรมดา เก็บได้นาน 1-2 วัน
– ในตู้แช่แข็งอุณหภูมิ -10 เก็บได้นาน 6-9 เดือน
อาหารทะเล
– ในตู้เย็นช่องธรรมดา เก็บได้นาน 1-2 วัน
– ในตู้แช่แข็งอุณหภูมิ -10 เก็บได้นาน 3-6 เดือน
ไข่ไก่
– ในตู้เย็นช่องธรรมดา เก็บได้นาน 21-35 วัน
(ไม่ควรเก็บในช่องแช่แข็ง เพราะไม่ได้ช่วยยืดอายุได้แต่อย่างใด)
ผักผลไม้
– ในตู้เย็นช่องธรรมดา เก็บได้นาน 21-35 วัน
(ไม่ควรเก็บในช่องแช่แข็ง เพราะไม่ได้ช่วยยืดอายุได้แต่อย่างใด)
อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม
– ในตู้เย็นช่องธรรมดา เก็บได้นาน 14 วัน
– ในตู้แช่แข็งอุณหภูมิ -10 เก็บได้นาน 1-2 เดือน
5. ไม่ควรเก็บอาหารไว้ในตู้เย็นนานจนเกินไป
แม้ว่าอาหารหลายอย่างจะสามารถเก็บเอาไว้ในช่องแช่แข็งอุณหภูมิ -10 องศาเซลเซียส และอยู่ได้เป็นเดือนๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าอย่างไรอาหารแช่แข็งอาจมีความเสี่ยงเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เราท้องเสียได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี ควรทานอาหารปรุงสดใหม่ทุกวัน ส่วนอาหารปรุงสุกไม่ควรเก็บเอาไว้ทานเกิน 1-2 วันจะดีที่สุด