เมื่ออายุย่างเข้าเลข 4 ร่างกายเริ่มจะมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น ทำให้รู้ว่าอายุไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขอีกต่อไป…
ในช่วงวัย 40 เป็นช่วงที่ชีวิตของหลายๆ คนเริ่มลงตัว หน้าที่การงานดี มั่นคง ชีวิตมีหลักมีฐานมากขึ้น และอีกสิ่งหนึ่งที่ชักจะไม่เหมือนเดิมก็คือร่างกายของเรา เพราะเมื่ออายุ 40+ แล้ว ร่างกายก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ว่าแต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายเราเมื่อเราอายุ 40 ปีจะมีอะไรบ้าง ตรวจสุขภาพด้วยตัวเองกันหน่อย
1. ผมเริ่มหงอก !
เมื่อก่อนแทบไม่ต้องทำอะไรกับผม แต่พออายุ 40 ปั๊บ ผมเริ่มจะขาว หงอกเริ่มมาหลายเส้น จนต้องพึ่งยาย้อมผมกันยกใหญ่ อย่างไรก็ดี สีผมจะเปลี่ยนเป็นสีขาวมาก-น้อย หรือช้า-เร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของเราด้วยนะคะ โดยบางคนอาจมีผมขาวแซมๆ มาตั้งแต่ช่วงวัย 20 ปี หรือเพิ่งจะมาเริ่มหงอกตอน 40+ นี่เอง
2. เวียนหัว
อาการนี้เกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยเฉพาะกับคนที่เครียดง่าย หงุดหงิดง่าย ทว่าเมื่ออายุ 40 ปี ฮอร์โมนที่แกว่งไปแกว่งมาจะมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเวียนหัวง่ายและบ่อยขึ้น
3. ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง
เมื่ออายุย่างเข้า 40 ปี ประสิทธิภาพในการมองเห็นของเราจะเริ่มแย่ เบาะๆ ก็เริ่มมองไม่ชัดในแสงสลัวๆ หรืออ่านตัวหนังสือไกลๆ ไม่ค่อยชัด สายตายาว ต้องอาศัยแว่นสายตา รวมไปถึงเริ่มปวดตา ปวดหัวเมื่อจ้องโทรศัพท์นานๆ เป็นต้น
4. ผิวเริ่มแตก และขาดความยืดหยุ่น
เนื่องจากฮอร์โมนเพศของทั้งผู้หญิงและผู้ชายผลิตน้อยลง ร่างกายของหนุ่ม-สาวในช่วงอายุ 40 ปี ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดขึ้น โดยเฉพาะผิวพรรณที่จะแห้งแตก ไม่ชุ่มชื้นเหมือนวัยเอ๊าะๆ ฉะนั้นเพื่อชะลอความเสื่อมของเซลล์ผิว ควรหมั่นทาโลชั่นบำรุงผิว และรับประทานผัก-ผลไม้ให้มาก
5. ฝ้า กระ จุดด่างดำเริ่มเยอะ
ฮอร์โมนคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผิวพรรณของสาวๆ หนุ่มๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี เช่น มีฝ้า กระ จุดด่างดำเพิ่มขึ้นมาอย่างง่ายดาย แต่กลับลบเลือนได้ยาก และเกิดริ้วรอยได้ง่ายขึ้น ทำให้ต้องดูแลผิวพรรณกันมากกว่าปกติ
6. หูเริ่มไม่ดี
ประสาทการได้ยินของร่างกายจะเริ่มเสื่อมลงเมื่อเราอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยความสามารถในการได้ยินจะไม่ดีเท่าสมัยก่อน แต่ไม่ถึงกับหูหนวกหรอกนะคะ แค่ฟังอะไรได้ไม่ค่อยชัด ถ้าเสียงไม่ดังจริงๆ อ้อ ! และมีงานวิจัยเผยว่า คนที่ชอบฟังเพลงดังๆ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสียงค่อนข้างดัง ประสิทธิภาพในการได้ยินจะเสื่อมเร็วกว่าที่ควรด้วยนะ
7. ฟันผุ กร่อน
ยิ่งแก่ตัวลงมวลกระดูกก็จะลดน้อยลงสวนกับตัวเลขอายุ ซึ่งมวลกระดูกในที่นี้รวมไปถึงฟันของเราด้วย ฟันจะเริ่มบาง ผุ กร่อน และหักง่าย โดยเฉพาะในคนที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพฟัน โอกาสที่ฟันจะผุ กร่อน ลามไปถึงรากฟันจะอ่อนแอก็ยิ่งมีมากขึ้น
8. เส้นประสาทและฟันจะหดตัว
ในช่วงอายุ 40-50 ปี ฟันและเส้นประสาทของคนเราจะเริ่มหดตัว แต่ในเรื่องแย่ๆ ก็ยังมีแสงสว่างให้อยู่บ้าง เพราะการที่เส้นประสาทรอบๆ ฟันหดตัว ก็จะทำให้เราเกิดความรู้สึกกับฟันน้อยลง บรรดาอาการเสียวฟันเมื่อกินของเย็น หรือรู้สึกเจ็บฟันเมื่อกัดอาหารแข็งๆ ก็จะไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้วล่ะ
9. เตี้ยลง
ส่วนสูงของคนที่อายุมากขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยจะเตี้ยลงเนื่องจากกระดูกหดตัว หรือเริ่มมีรูปทรงโค้ง โดยเฉพาะช่วงกระดูกสันหลัง ทำให้บางคนมีภาวะหลังค่อมเมื่อแก่ตัวลงด้วย
10. ประสาทการรับกลิ่นและรสเริ่มเสื่อม
บางคนอาจจะสังเกตได้ชัดเจนเลยว่าตัวเองเริ่มกินเค็มมากกว่าเดิม กินหวานมากกว่าเดิม เพราะประสาทการรับรสทำงานไม่ค่อยเต็มประสิทธิภาพเหมือนก่อน นั่นก็เพราะว่า เมื่ออายุมากขึ้น ประสาทการรับรู้ต่างๆ จะเริ่มทำงานน้อยลง และอาจมีเสื่อมไปบ้างในบางจุด
11. เป็นหวัดน้อยลง
หนึ่งในเรื่องดีๆ ของวัยกลางคน คือเราผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ดังนั้นพวกไวรัสหวัด หรือไวรัสความรุนแรงน้อยๆ ที่ทำให้เกิดอาการป่วยกระเสาะกระแสะ บอกเลยว่าเจ้าไวรัสพวกนี้แทบจะทำอะไรเราไม่ได้ง่ายๆ เหมือนเดิมแล้วล่ะ
12. ความอ่อนแอของข้อต่อ
แน่นอนว่าเมื่อเราอายุมากขึ้นความแข็งแรงของข้อต่อ กระดูก หรือแม้แต่กล้ามเนื้อย่อมถดถอย เป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าอายุเราไม่น้อย และสังขารเราไม่เที่ยง ดังนั้นหากจะเกิดอาการเจ็บข้อเข่า ข้อเท้า ข้อต่อต่างๆ มากกว่าเดิม ก็ถือเป็นเรื่องปกติของวัยกลางคนนะจ๊ะ
13. เมาง่าย แฮงก์หนัก
จากที่เมื่อก่อนดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นชั่วโมงๆ ยังไม่ค่อยเมา แต่เดี๋ยวนี้ดื่มไป 3-4 แก้วก็เริ่มจะไม่ไหว แถมเมื่อตื่นขึ้นมาก็มีอาการแฮงก์หนักกว่าเดิมมากๆ นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าตับของคุณเริ่มอ่อนแอ ประสิทธิภาพในการขับแอลกอฮอล์เริ่มถดถอยลง ดังนั้นเราก็ควรถนอมตับสักหน่อยด้วยการลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง อย่างมากก็สัปดาห์ละครั้งก็พอ
14. ฟื้นตัวได้ยากกว่าเดิม
ไม่เพียงแต่อาการเมาค้างที่ฟื้นตัวได้ยากเท่านั้น แต่อาการเจ็บ ปวด เมื่อย เนื้อตัว ถ้าได้เกิดขึ้นแล้วก็ยากจะหายเป็นปกติได้ง่ายๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะกล้ามเนื้อของเราไม่ยืดหยุ่นเหมือนสมัยรุ่นๆ ไหนจะฮอร์โมนที่ลดน้อยลง ความกระฉับกระเฉงของร่างกายก็น้อยลงไปด้วย และช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สมรรถภาพของร่างกายเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัดเลย ซึ่งถ้าอยากให้เฟิร์มเหมือนก่อนก็ควรรับประทานอาหารประเภทโปรตีนเยอะๆ และหมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
15. ตื่นกลางดึกบ่อยๆ
อาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย และมักจะตื่นกลางดึกบ่อยๆ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในผู้สูงวัย เริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี ขึ้นไปก็เริ่มจะมีอาการดังกล่าวกับคุณแล้วล่ะ
16. อ้วนง่าย
การรักษารูปร่างให้ยังเป๊ะปังดูเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่าสมัยสาวๆ หนุ่มๆ อย่างเห็นได้ชัด ด้วยฮอร์โมน ความเครียด และระบบเผาผลาญที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพดังเก่า ทำให้น้ำหนักตัวของคนวัน 40 ปี ขึ้นง่าย ลงยาก ดังนั้นพยายามควบคุมอาหารให้ดี และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะดีที่สุด
17. หลงลืม
เมื่ออายุมากขึ้นจะสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าเราจะเริ่มมีอาการหลงลืม บางทีก็มึนงง สับสนไปบ้าง โดยอาการดังกล่าวจะเรียกว่า ภาวะ brain fog ซึ่งหมายถึงภาวะการทำงานของกระบวนการคิด การรับรู้ และสมาธิทำงานผิดปกติไป
18. มีเหตุผลน้อยลง
มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง คำนี้เริ่มอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน British Medical Journal เผยว่า ทักษะการใช้เหตุผลของคนเราจะดรอปลง 3.6% ในช่วงอายุ 40-50 ปี เนื่องจากการทำงานของสมองจะช้าลง สารเคมีต่างๆ รวมไปถึงฮอร์โมนในร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงไป
19. ผมเริ่มบาง แต่ขนดกขึ้นมาซะงั้น
แม้ผมจะร่วงจนศีรษะบางอย่างน่าใจหาย แต่ในส่วนอื่นๆ กลับมีขนงอกขึ้นมาหน้าตาเฉย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของคนอายุ 40 ปี ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ทั้งนี้ในผู้ชาย ขนมักจะขึ้นนส่วนหลัง จมูก และใบหู ส่วนในผู้หญิง คนจะขึ้นบริเวณใบหน้าเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง แต่ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนหรือฮอร์โมนผู้ชายเพิ่มขึ้นนั่นเอง
20. เหงื่อออกน้อย
ต่อมเหงื่อที่หดตัวลงคือสาเหตุที่ทำให้คนอายุ 40 ปี มีเหงื่อออกน้อยกว่าเดิม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากผู้หญิงก่อนวัยหมดประจำเดือนอาจมีอาการรสะบัดร้อนสะบัดหนาว และมีเหงื่อออกมากกว่าปกติ
21. เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว
ฮอร์โมนที่ผิดปกติส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตผิดปกติไปด้วย โดยเฉพาะเพศหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน อาการร้อนๆ หนาวๆ จะเกิดขึ้นกับคุณบ่อย พาลให้รู้สึกไม่สบายตัวและหงุดหงิดกับอาการแปลกๆ ของร่างกายด้วย
22. ความต้องการทางเพศลดลง
เนื่องด้วยฮอร์โมนเพศที่ลดลง ทำให้อารมณ์ทางเพศก็ลดน้อยลงไปด้วย ในผู้หญิงช่องคลอดก็จะแห้ง น้ำหล่อลื่นไม่ค่อยจะมี ความอยากมีกิจกรรมทางเพศก็พลอยเหือดแห้งไม่ไวไฟเหมือนสมัยสาวๆ ทางด้านผู้ชาย ฮอร์โมนเพศชายก็ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วฮอร์โมนเพศชายจะลดลง 1% ทุกๆ ปี ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป การผลิตสเปิร์ม ความหนาแน่นของกล้ามเนื้อในเพศชายก็จะลดลงทีละน้อยๆ
23. เริ่มกลั้นปัสสาวะยาก
หูรูดเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เริ่มจะมีความเสื่อมเมื่อเราอายุ 40 ปี ดังนั้นความสามารถในการกลั้นปัสสาวะของคนวัย 40 จึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิมพอประมาณ โดยเฉพาะในเพศหญิงจะมีปัญหาปัสสาวะเล็ดมากกว่าเพศชาย
– ปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้นได้กับทุกวัย เช็กอาการต้องสงสัย รู้ตัวไวรักษาทัน
24. ท้องเสียเพราะดื่มนม
ผลการศึกษาจาก National Institute of Health เผยว่า ความสามารถในการย่อยโปรตีนแลคโตสของคนอายุ 40 ปี จะลดลง อ้างอิงจากอาสาสมัครที่ผ่านการทดสอบความสามารถในการย่อยโปรตีนแลคโตส พบว่า 65% ของร่างกายอาสาสมัครมีความทนต่อการย่อยโปรตีนแลคโตสลดลง โดยทีมวิจัยอธิบายว่า เอนไซม์ที่ใช่ย่อยโปรตีนแลคโตสในร่างกายของคนอายุ 40 ปีขึ้นไป มีปริมาณลดลง ทำให้ความสามารถในการย่อยโปรตีนชนิดนี้ลดน้อยลงด้วย
25. มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
ความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไป และเมื่ออายุ 40 ปี ความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก 3-5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงวัย 30 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและพฤติกรรมพาเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมด้วยนะคะ
เช็กแล้วเป๊ะกับสิ่งที่ตัวเองเจอตอนอายุ 40 ปีกันบ้างไหมเอ่ย แต่ถ้าใครใกล้จะ 40 แล้วก็ลองหาทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเองไว้ด้วยนะ