ร่างกายเหนื่อยล้าสะสม หรือพักผ่อนไม่เพียงพอมาหลายวัน ไม่อาจชดเชยได้ด้วยการนอนหยับยาวๆ ช่วงวันหยุด เพราะการกระทำเหล่านั้นจะยิ่งทำให้รู้สึกเพลียมากยิ่งขึ้นเมื่อตื่น ควรใช้วิธี งีบหลับ เป็นระยะๆ ที่พอทำได้ หรือนอนให้ครบ 8-10 ชั่วโมงในวันถัดๆ ไป ความรู้สึกเพลียก็จะลดลงได้มากภายใน 2-3 วัน
การงีบหลับส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
1. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
2. ลดภาวะการตีบของหลอดเลือด
3. ลดอาการที่เกี่ยวกับความดันโลหิต
4. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน
5. ช่วยในการลดน้ำหนักได้ดี
6. ป้องกันภาวะสมองเสื่อม
ความแตกต่างของการงีบหลับแต่ละนาที
– งีบหลับ 10-20 นาทีเป็นการกดปุ่ม Refresh ร่างกาย
เวลาที่คุณนอนน้อยหรือนอนไม่พอ ถ้าอยากเติมความสดชื่นให้ร่างกายเพียงเล็กน้อย แค่หยุดงีบหลับ 10 -20 นาที จะช่วยเพิ่มพลังและทำให้คุณรู้สึกสดชื่น ถ้างีบหลังหลังอาหารกลางวัน จะช่วยลดความอยากอาหารประเภท Junk Food ลงได้ และยังสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ดีอีกด้วย เนื่องจากฮอร์โมนความเครียดลดลง
– การงีบหลับ 30 นาที ไม่ค่อยดีเท่าไร
การนอนครึ่งชั่วโมงไม่เป็นผลดีต่อเรานักหรอก นักวิจัยบอกว่า หลังจากตื่นขึ้นมาจะมีอาการมึนเล็กน้อย และอาจมีอาการปวดหัวตามมาด้วย เพราะเป็นช่วงเวลาก้ำกึ่งระหว่างที่สมองของเรากำลังจะเข้าสู่การนอนหลับลึกถ้ามีอาการเพลียสะสมมากๆ และอาการนี้กว่ามันจะหายไปก็อีกประมาณ 30 นาที
– การงีบหลับ 60 นาที ส่งผลต่อความจำ
ด้วยระยะเวลา 1 ชั่วโมง สำหรับการงีบหลับส่งผลดีต่อความจำ เพราะว่ามันเป็นการนอนที่ทำให้เราอยู่ในช่วง slow-wave sleep สามารถช่วยให้สมองปลอดโปร่ง และเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ได้ สามารถทำให้คุณจำเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ และตัวเลขได้ดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การหลับลึกทำให้งัวเงียเวลาตื่นนอน แต่ก็ทำให้รู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นเต็มตาแล้ว
– งีบหลับ 90 นาที อารมณ์ดีขึ้น
การนอนหลับที่สั้นที่สุดของวงจรการนอนหลับ เกิดในช่วง 90 นาทีแรก ซึ่งดีต่อกายและใจ เป็นระยะเวลาการนอนที่ครบรอบสมบูรณ์ คิดง่ายๆก็คือ เวลาเรานอนมันก็เหมือนนาฬิกา พอครบ 90 นาทีปุ๊บ นี่ก็คือ 1 รอบสมบูรณ์ ซึ่งในวงจรจะมีทั้งการนอนแบบหลับลึก กับหลับสบายๆไม่ลึกนัก รวมทั้ง REM stage (Rapid Eye movement) ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราก็จะฝันในช่วงนี้ การนอนในระยะเวลานี้จะช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆจะแล่นเข้ามาได้ดีขึ้น