เข้าสู่เดือนเมษายนเรียบร้อย ก็หมายความว่าเราเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเต็มตัว นอกจากความร้อนระอุที่เราต้องทุกข์ทน อาจมีโรคบางอย่างที่ก่อตัวขึ้นมาในหน้าร้อนโดยไม่รู้ตัวได้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยทางร่างกายอยู่แล้ว Gangbeauty บอกเลยว่า 6 อาการเหล่านี้ หากพบเจอก็ไม่ควรเพิกเฉยเป็นอันขาด!
1. ผื่นผิวหนัง
www.menlotherapeutics.com
เป็นผื่นที่เกิดจากการที่ร่างกายขับเหงื่อออกมาเยอะมากเกินไปจนรูขุมขนอักเสบ มีความระคายเคืองเลยกลายเป็นตุ่มสีแดงหรือผื่นบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอกส่วนบน ใต้ราวนม และขาหนีบ โดยหากเกิดผื่นแบบนี้ขึ้นมา แนะนำให้อาบน้ำ และสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี อาจจะหายาแก้ผื่นมาทาเสริมด้วย
2. บวมที่ข้อเท้า
healthyliving.azcentral.com
เดินไปเดินมาปกติ แต่สังเกตพบว่าส่วนขา โดยเฉพาะข้อเท้ามีความนูนบวมออกมา นั่นอาจเกิดจากเส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัวมาก ทางแก้ง่ายๆ คือให้นอนราบลงกับพื้น พักผ่อน ยกขาสูงเข้าไว้
3. ตะคริว
bornrealist.com
ตะคริวเป็นอาการที่เกิดจากกล้ามเนื้อหดและเกร็งตัวอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณขา แขน และหน้าท้อง ซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้ที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหนัก จนร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกไปทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก หากเกิดอาการเช่นนี้ แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริวออก นวดกล้ามเนื้อเบาๆ ประมาณ 1-2 นาที สลับไปมากับการยืดกล้ามเนื้อ ที่สำคัญคือต้องเติมเกลือแร่ให้ร่างกายด้วยเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อชดเชยสิ่งที่ร่างกายเสียไปนั่นเอง
4. เพลียแดด
www.flickr.com
การเดินกลางแดดประเทศไทย ใครก็รู้ว่าเหมือนเอาตัวรอดในทะเลทราย หากในระหว่างนั้นรู้สึกว่าเหงื่อออกเยอะมากเกินไป อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระหายน้ำมาก หายใจเร็ว ใจเต้นเร็ว แต่ยังมีสติ นั่นอาจเป็นเพราะกำลังอยู่ในภาวะเพลียแดดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อมากเกินไป ให้รีบพาตัวเองเข้าใต้ร่ม หาที่นอนยกขาสูง วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ ควรสังเกตดูด้วยว่าตัวเองมีไข้หรือไม่ หากมี ควรรีบไปพบคุณหมอให้ไวที่สุด
5. เป็นลม
www.flickr.com
เมื่อร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่ออากาศที่ร้อนขึ้นได้ และพยายามขับความร้อนส่วนเกินให้ออกไป ทำให้การไหลเวียนโลหิตถูกส่งไปที่ผิวหนังมาก จนทำให้ปริมาณเลือดที่ถูกส่งไปยังสมองไม่เพียงพอชั่วขณะ จึงเกิดอาการเป็นลมขึ้น ทางแก้ไขคือควรนอนหงายราบกับพื้น ใช้หมอนรองขาและเท้าให้สูงกว่าลำตัว อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และพยายามทำให้ร่างกายเย็นขึ้นมากที่สุด อาจจะพัด ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามเนื้อตัว หรือบีบนวดแขนขาก็ได้ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาทีก็ควรพาส่งโรงพยาบาลได้แล้ว
6. ลมแดดหรือฮีทสโตรก
www.flickr.com
เมื่ออุณหภูมิรอบตัวร้อนจัด จนทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถขับความร้อนนี้ให้ออกไปได้ อาจทำให้เสียชีวิตได้ทันทีหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง โดยเมื่อเห็นคนใกล้ตัวมีผิวหนังสีแดง เหงื่อไม่ออกเลยทั้งที่อยู่กลางแดด ดูสับสนและหมดสติ ให้รีบพาผู้ป่วยเข้าที่ร่ม หรือเข้าไปในรถปรับอากาศ หรือสถานที่ใดก็ได้ที่มีความเย็น ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว วางถุงน้ำแข็งตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ และรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
หากพบใครไม่สบาย หรือรู้ตัวว่าตัวเองไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองที่ป่วยได้ ให้พยายามกดโทร 1669 ทันที!