โรคไบโพล่าร์ หรือ โรคคนสองบุคคลิก ถูกให้ความสนใจอีกครั้ง หลังจากมีการเปิดเผยว่า ร๊อคเกอร์ชื่อดังอย่าง เสก โลโซ ป่วยด้วยโรคนี้ ทำให้มีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากคนทั่วไป และเรื่องที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคไบโพล่าร์มากถึงหลายล้านคนบนโลก แต่มีไม่กี่คนที่เข้าใจอาการของโรคอย่างชัดเจน ทำให้อาจปฎิบัติตัวไม่ถูกต้อง และคุณเองก็อาจเข้าข่ายโดยไม่รู้ตัว วันนี้ GangBeauty จึงนำข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับวิธีการสังเกตตัวเองมาฝากกันด้วย 7 อาการที่บ่งบอกว่า คุณเข้าข่ายโรคไบโพล่าห์
โรคไบโพล่าห์ หรือผู้ที่มีภาวะอารมณ์แบบสองขั้ว เกิดจากความผิดปกติของสมอง โรคนี้มีอาการพื้นฐานอยู่ 4 อาการ ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ความคล่องตัว เรี่ยวเเรง รวมไปถึงงานหรือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ อารมณ์ของผู้ป่วยด้วยโรคไบโพล่าห์ สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
ผู้เป็นโรคไบโพล่าห์ต้องเผชิญกับ ภาวะที่เรียกว่า Manic Episode คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการฟุ้งพล่าน (Mania) จะเกิดสลับกับช่วงที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย (Depressive Episode) อาการที่บ่งบอกว่าเข้าสู่ช่วง Manic Episode คือ อยู่ไม่สุข ชอบทำงาน ลุกเดินไปมา ความคิดแล่นเร็ว พูดเร็ว ไม่อยากนอน หงุดหงิดง่าย มีปัญหาเรื่องการตัดสินใจ ไม่มีสมาธิ และอาจทำอันตรายต่อผู้ใกล้ชิดได้ ถือเป็นโรคที่อันตรายทั้งต่อตัวผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด ดังนั้น เรามาเช็คกันดีกว่าว่าคุณ หรือคนใกล้ตัว กำลังป่วยด้วยโรคไบโพล่าห์หรือไม่
1. มีปัญหาในการทำงาน
เมื่ออารมณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง จะกระทบไปถึงการทำงาน การจะทำงานให้เสร็จเป็นเรื่องยาก จัดการกับหน้าที่ของตัวเองไม่ได้ มีงานที่ค้างคาเป็นดินพอกหางหมู เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจเข้าข่ายโรคไบโพล่าห์
2. มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย
หลายคนอาจสับสนระหว่างโรคไบโพล่าห์ และโรคซึมเศร้า เนื่องจากภาวะอารมณ์ของผู้เป็นไบโพล่าห์นั้น บางช่วงมีอาการลักษณะเดียวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ นอนไม่หลับ ไม่มีแรง ไม่มีสมาธิ หรืออยากอาหารน้อยลง ซึ่งวิธีการรักษาของ 2 โรคนี้จะแตกต่างกันไป หากไม่แน่ใจแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ดีกว่าค่ะ
3. ชอบพูดแทรก
คนเป็นไบโพล่าห์มักจะพูดเร็ว ชอบพูดแทรกคนอื่น โดยไม่สนใจบทสนทนาของคนรอบข้าง บางครั้งก็เปลี่ยนเรื่องคุยง่ายๆ ทำให้จับประเด็นไม่ค่อยได้ ลักษณะการพูดแบบนี้มักเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการฟุ้งพล่าน (Mania Episode)
4. หงุดหงิดง่าย
ภาวะอารมณ์ที่สลับสับไปมา ทำให้ผู้ป่วยเกิดความหงุดหงิดได้ง่าย ยากที่จะเดาอารมณ์ ส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ซึ่งเรื่องนี้ตัวผู้ป่วยเองอาจจะรู้ตัว แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
5. อารมณ์ดีเกินไป
มีอารมณ์ดีเกินไปหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไฮเปอร์ เกิดขึ้นสลับกับภาวะซึมเศร้า เป็นอารมณ์ที่สุดโต่งทั้ง 2 ขั้ว ในเวลาไล่เลี่ยกัน
6. นอนน้อย
ผลข้างเคียงอีกอย่างหนึ่งของโรค คือจะทำให้ผู้ป่วยมักมีปัญหากับการนอนหลับ ในภาวะฟุ้งพล่าน ก็จะไม่อยากนอนไม่รู้สึกเหนื่อยล้า ในทางกลับกันบางครั้งก็มีภาวะซึมเศร้า นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ พฤติกรรมเหล่านี้จะยิ่งทำให้อาการของโรคแย่ลง
7. ตัดสินใจผิดพลาด
ผู้ป่วยไบโพล่าห์โดยเฉพาะในภาวะฟุ้งพล่าน มักจะมั่นใจในตัวเองสูง ชอบโอ้อวด และไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ทำเรื่องที่ไม่สมควรทำหากอยู่ในภาวะปกติ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป บางคนอาจติดสารเสพติดต่างๆ ที่ใช้เมื่อเกิดภาวะซึมเศร้า และจะยิ่งทำให้อาการของโรคแย่ลง
และนี่ก็คือลักษณะอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยด้วยโรไบโพล่าห์ ที่หากได้รับการตรวจรักษาก็จะทำให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้ ใครที่รู้ว่าตัวเองเข้าข่าย แนะนำให้ลองไปปรึกษาแพทย์ดูนะคะ