คนท้องกินยาพาราได้ไหม เป็นคำถามคาใจที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยากรู้และสงสัย ถ้าหากไม่สบาย ปวดหัว มีไข้ขึ้นมา คนท้องสามารถกินยาพาราได้ไหม มีอันตรายต่อลูกในครรภ์หรือเปล่า และกินอย่างไรจึงจะปลอดภัยที่สุด เรามาไขข้อข้องใจกันเลยค่ะ
คนท้องกินยาพาราได้ไหม เพราะอาการปวดต่างๆ หรือมีไข้นั้น อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าคนท้องนั้นต้องดูแลเรื่องอาหารการกินและการใช้ยาเป็นพิเศษ คุณแม่หลายๆ ท่านก็คงกังวลเหมือนกันใช่ไหมคะ ว่าสามารถกินยาพาราตอนท้องได้หรือไม่ ยาพาราจะมีอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์อย่างไร การจะใช้ยาแต่ละครั้งจึงต้องคิดแล้วคิดอีก ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับยาพาราเซตามอล พร้อมวิธีกินยาพาราอย่างปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและลูกน้อยกันเลยค่ะ
รู้จักยาพาราเซตามอล
พาราเซตามอล เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักจะมีติดไว้เป็นยาสามัญประจำบ้าน เพราะหาซื้อได้ง่าย ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดจากสาเหตุต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดจากข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ และใช้เป็นยาลดไข้ แต่ยาพาราเซตามอลที่เป็นยาเดี่ยวจะบรรเทาอาการปวดขั้นอ่อนถึงปานกลางเท่านั้น ไม่มีผลต่ออาการปวดขั้นรุนแรง เช่น แผลผ่าตัดใหญ่ หรือมะเร็ง และไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
คนท้องกินยาพาราได้ไหม กินอย่างไรให้ปลอดภัย ?
ยาพาราเซตามอลมีหลายรูปแบบ ทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ด ที่นิยมกินคือยาเม็ดที่มีตัวยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด โดยทั่วไปในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป กินได้ครั้งละไม่เกิน 2 เม็ด (1,000 มิลลิกรัม) และวันละไม่เกิน 8 เม็ด (4,000 มิลลิกรัม) นอกจากนี้ควรเว้นระยะห่างของมื้อยาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วัน หากจำเป็นต้องใช้นานกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์
สำหรับคนท้อง สามารถใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้และแก้ปวดได้ค่ะ โดยใช้เกณฑ์เดียวกันเพื่อความปลอดภัย ได้แก่
– กินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง หากกินเกินขนาด อาจทำให้เกิดพิษต่อตับ
– ไม่ควรกินยาพาราเซตามอลติดต่อกันนานเกิน 5 วัน
– ยาพาราเซตามอลมีข้อดีคือไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร จึงสามารถกินพร้อมอาหารหรือขณะท้องว่างได้
– ห้ามกินยาพาราเซตามอลร่วมกับแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะตับล้มเหลว
– ควรได้รับการยืนยันใช้ยาพาราเซตามอลจากแพทย์ที่ดูแลครรภ์ก่อนเท่านั้น ว่าสามารถใช้ยาได้มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ควรใช้ขณะตั้งครรภ์
ยาพาราเซตามอล กินมากไปขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงลูกสมาธิสั้น !
แม้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะสามารถใช้ยาพาราตามข้อแนะนำเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือเป็นไข้ได้ แต่ก็อย่าเพิ่งคิดว่าการกินยาพาราเซตามอลเป็นเรื่องง่ายๆ ที่สามารถทำได้เหมือนคนทั่วไปนะคะ เพราะที่จริงแล้ว คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกประเภท โดยเฉพาะในระหว่าง 8-10 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่สมอง ปอด และหัวใจของลูกในท้องกำลังพัฒนา การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้อวัยวะของเด็กพัฒนาผิดปกติได้ด้วย
นอกจากนี้ งานวิจัยของ Oxford University Press ตีพิมพ์ใน International Journal of Epidemiology ยังค้นพบว่า คนท้องที่ได้รับยาพาราเซตามอลมากเกินไปขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่ลูกในครรภ์จะเกิดปัญหาสมาธิสั้น และออทิสติกมากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับยาขณะที่แม่ตั้งครรภ์ถึง 30% สอดคล้องกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกแลนด์ ในนิวซีแลนด์ ที่ค้นคว้าข้อมูลเด็กทารกในภูมิภาคยุโรป จำนวน 871 คน โดยเปรียบเทียบการใช้ยาของคุณแม่ระหว่างตั้งท้อง ผลปรากฏว่าเกือบครึ่งของลูกๆ ที่คุณแม่ที่ใช้ยาพาราเซตามอลระหว่างตั้งครรภ์ มีพฤติกรรมเข้าข่ายโรคสมาธิสั้น
คนท้องห้ามกินยาแก้ปวดชนิดไหน ?
ยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
ถ้าคุณแม่กินในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงการแท้งบุตรได้ถึง 5-6 เท่า อาจส่งผลรบกวนการแข็งตัวของเลือดและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ถ้ากินตอนใกล้คลอดอาจไปยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดของทารกในครรภ์ ทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้ นอกจากนี้ยาแอสไพรินยังมีผลทำให้คุณแม่คลอดเกินกำหนดและคลอดยากขึ้นอีกด้วย
เออร์โกตามีน (Ergotamine)
ถ้าคุณแม่เคยมีอาการปวดไมเกรนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์อยู่ ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดศีรษะในกลุ่มเออร์โกตามีน เพราะยาในกลุ่มนี้จะทำให้มดลูกบีบตัว อาจทำให้แท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้
ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
ถ้าคุณแม่กินเข้าไปในช่วงเริ่มตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเป็น 5-6 เท่า และหากใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 เท่า
นาโพรเซน (Naproxen)
เป็นยาเม็ดบรรเทาปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีผลทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดเช่นเดียวกับยาแอสไพริน
ไขข้อข้องใจกันไปแล้วนะคะ ว่าคนท้องสามารถกินยาพาราได้ในปริมาณที่เหมาะสมและกินอย่างถูกวิธี แต่ทางที่ดี คุณแม่ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาด้วยตัวเอง ควรอ่านเอกสารกำกับยาให้ชัดเจนก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และลูกน้อยค่ะ