คำถามกวนหัวใจเหล่าสาวน้อยสาวใหญ่ในทุกเดือน คงเป็นปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน ประจําเดือนไม่มา ไม่ว่าจะมาช้าบ้าง ไม่มาบ้าง ยิ่งขาดหายไปเลยก็ยิ่งกังวลว่าตัวเองจะตั้งครรภ์ หลากความคิดต่างๆ นานา อาจทำให้เกิดความกังวลขึ้นในจิตใจของเธอได้ไม่มากก็น้อย เอาเป็นว่ามาลองเช็กตัวเองกับ Gangbeauty ดูก่อน ว่าปัญหาประจำเดือนที่พบ มาพร้อมลักษณะต่างๆ ที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้หรือไม่!
1. ตั้งครรภ์
เป็นสาเหตุที่พบบ่อย และง่ายที่สุดกับปัญหาประจำเดือนขาดหาย โดยเฉพาะในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ค่อยชอบคุมกำเนิด คุมบ้าง ไม่คุมบ้าง หรือมีการใช้ยาคุมกำเนิดที่ประสิทธิภาพต่ำจนคุมไม่อยู่
2. ภาวะรังไข่มีถุงน้ำมาก
สาเหตุของภาวะนี้ ยังไม่มีใครค้นพบมูลเหตุที่ชัดเจน แต่อาการนี้มักพบบ่อยในวัยรุ่นที่ประจำเดือนมาไม่ค่อยปกติ 2-3 เดือนถึงจะมาครั้งนึง ซึ่งลักษณะภายนอกของคนที่มีภาวะนี้ ส่วนใหญ่จะอ้วน อาจมีขนดกหรือมีหนวดด้วย
3. ต่อมไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์ที่อยู่แทบจะด้านบนสุดของร่างกาย มีผลกับมดลูกที่แทบจะเป็นส่วนล่างสุดได้ เพราะมันมีหน้าที่หลั่งฮอร์โมนควบคุมสิ่งต่างๆ ในร่างกาย หากมันทำงานเยอะไปหรือน้อยไป ก็อาจทำให้กระทบกับฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมอง ส่งผลต่อเนื่องให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
4. เครียด
การนอนน้อย พักผ่อนน้อย คิดเยอะวุ่นวายใจ สามารถทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้เหมือนกัน บางครั้งอาจถึงขั้นขาดหายไปหลายเดือน เพราะความเครียดส่งผลตรงถึงต่อมใต้สมองนั่นเอง
5. อ้วน
น้ำหนักที่มากเกินไป ไขมันที่มากเกินไป ก็ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้เช่นกัน เพราะไขมันผิวหนังของคนอ้วน สามารถเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ด้วย ทำให้มีผลรบกวนต่อการหลั่งฮอร์โมนที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้รังไข่ผลิตฟองไข่ที่ชื่อว่า FSH การตกไข่เลยไม่เกิด ประจำเดือนเลยไม่มา
6. รังไข่เสื่อม
การรักษาโรคนั้นอาจมีผลต่อประจำเดือนด้วยเช่นกัน เช่น ผู้หญิงที่เคยผ่านการฉายรังสี หรือการให้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด มีผลต่อการทำลายรังไข่ หรือโรคบางชนิดก็ทำให้รังไข่เสื่อมได้ เช่น โรคเทอร์เนอร์ซึ่งเป็นความผิดปกติทางโครโมโซม ก็จะเตี้ย และรังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร
7. น้ำนมไหลทั้งที่ไม่ใช่ช่วงให้นมบุตร
อาการนี้อาจเกิดจากมีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ทำให้ขัดขวางฮอร์โมนที่ห้ามการสร้างน้ำนม ส่งผลให้มีน้ำนมไหล ซึ่งก็อาจไปกระทบกับการสร้างประจำเดือนด้วยอีกต่อหนึ่งเช่นกัน
8. ใช้ยาคุมฮอร์โมนกำเนิดนานไปไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตาม
9. มีโรคทางจิตเวชคืออะนอเรกเซีย หรือโรคคลั่งผอม ที่ทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร และน้ำ ไม่ยอมทานอาหารเพราะกลัวอ้วน ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง
10. ออกกำลังกายหนักเกินไป ก็มีผลต่อฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองเช่นกัน
11. ช่องคลอด ปากมดลูกตีบตัน เพราะพังผืดหลังการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือหลังการขูดมดลูก
ถ้าเครียดมาก แนะนำปรึกษาหมอเลยจะดีที่สุดจ้ะ!