“หน้าซื่อแต่ใจคด สุภาพแต่ใจทราม เกรี้ยวกราดแต่ตาขาว แข็งขันแต่กลิ้งกลอก ใจคนนั้นดูยาก แต่ก็ใช่ว่า มิอาจจะหยั่งถึง” ขงเบ้งได้เขียนถึงวิธีการหยั่งรู้ใจคนไว้ในบทที่ 3 ของ “ตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง” ตำราวิชาการทหารเล่มสำคัญ ที่ขงเบ้งมอบให้แก่เกียงอุยนายทหารเอก และตำราเล่มนี้ยังคงสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน ซึ่งในบทๆ นี้มีใจความสำคัญว่า
“อันการหยั่งรู้ ดูอุปนิสัยใจคอคนนั้นเป็นเรื่องยาก คนมีดีชั่วแตกต่าง
นิสัยใจคอหาใช่จะสัมพันธ์กับรูปลักษณ์ภายนอก
บางคนหน้าซื่อแต่ใจกลับคิดคด บางคนสุภาพอ่อนหวาน
แต่กลับมีจิตใจเลวทราม บางคนเกรี้ยวกราดห้าวหาญแต่กลับขี้ขลาดตาขาว
บางคนมีมานะแข็งขันแต่กลับกลิ้งกลอกหาความสัตย์มิได้
ใจคนนั้นแม้นจะดูยาก แต่ก็พอมีโอกาสหยั่งถึง”
วิธีที่จะหยั่งรู้จิตใจมนุษย์นั้น มีอยู่ด้วยกัน 7 ประการดังนี้
1. ลองใจด้วยความผิดและถูก เพื่อหยั่งรู้คติธรรม
ลองใจด้วยปัญหาทางศีลธรรม สอบถามประเด็นทางการเมือง เพื่อทดสอบจุดยืน ความคิดจิตใจ ทัศนคติ รวมทั้งความปรารถนาลึกๆ ภายในจิตใจ
2. โต้แย้งให้จนมุม เพื่อดูปฏิภาณ
หาปัญหาต่างๆ มาซักไซ้ไล่เลียง ยั่วยุให้เขาโกรธเพื่อทดสอบการควบคุมอารมณ์ ไหวพริบปฏิภาณ
3. ซักถามด้วยกลอุบาย เพื่อดูสติปัญญา
ปรึกษาแผนการ เรื่องราวต่างๆ กับเขา เพื่อทดสอบภูมิความรู้ สติปัญญา และความเข้าใจ
4. แจ้งภัยให้รู้ เพื่อดูความกล้า
แจ้งเขาให้ทราบว่า ภัยอันตรายกำลังคืบคลานเข้ามาหาตัวเพื่อพิจารณาให้เห็นความกล้าหาญและความอดทน
5. มอมเมาด้วยสุรา พิจารณานิสัย
จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ให้เพียบพร้อมด้วยสุรายาเมาเพื่อดูอุปนิสัยใจคอในยามขาดสติ รวมทั้งวินัยในการควบคุมตน
6. สรรเสริญด้วยลาภยศ เพื่อดูความสุจริต
ใช้ผลประโยชน์ทั้งลาภ ยศ และคำสรรเสริญเข้าล่อใจเพื่อทดสอบความซื่อสัตย์สุจริต
7. มอบงานให้ทำ เพื่อดูความรับผิดชอบ
มอบหมายงานให้เขาทำเพื่อทดสอบว่ามีความรับผิดชอบ น่าไว้วางใจ สามารถทำงานได้ถูกต้อง ครบถ้วนและตรงต่อเวลาหรือไม่ อย่างไร
“7 วิธีดูคนของขงเบ้ง” จะต้องนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมด้วยสติปัญญา ตามโอกาสอันอำนวย หาไม่แล้วก็อาจเกิดผลเสียกับตัวผู้ใช้เสียเอง หากมีโอกาสให้ทำก็จงทำ เพราะการหยั่งรู้อุปนิสัยใจคอของคน คือ “สิ่งแรกสุดของการใช้คน“