ลองคิดดูเล่นๆ ว่าข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่คิดว่า “สกปรก” ที่สุดคืออะไร? รองเท้า ถุงเท้า เสื้อผ้าเปียกเหงื่อจากการออกกำลังกาย ชุดชั้นในเก่าที่ขึ้นรา คอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้ล้างน้ำยา หรือเครื่องสำอางหมดอายุ? บอกได้เลยว่าของเหล่านี้ดูเด็กๆ ไปเลย เมื่อเทียบปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่พบได้จากหน้าจอของ “โทรศัพท์มือถือ”
ข้อมูลจากโรงพยาบาลสมิติเวช ระบุว่า การศึกษาของ จิม ฟรานซิส ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยแห่งสหราชอาณาจักร พบว่าตัวอย่างโทรศัพท์มือถือที่สกปรกที่สุดมีเชื้อแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่เกินกว่าระดับมาตรฐานที่รับได้ถึง 10 เท่า และพบว่าโทรศัพท์มือถือบางเครื่อง มีแบคทีเรียปนเปื้อนจากอุจจาระสูงกว่าระดับมาตรฐาน 170 เท่า เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้สามารถสร้างอันตรายให้กับสุขภาพของเราได้ทั้งนั้น
เชื้อโรคที่พบได้จากโทรศัพท์มือถือ
1. Escherichia coli (เอสเชอรีเชีย โคไล) ปกติเชื้อตัวนี้สามารถพบได้ในลำไส้มนุษย์ และสัตว์โดยไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากมีอาการสะสม และปนเปื้อนอยู่บนอาหาร ภาชนะที่ใส่อาหาร หรือแม้กระทั่ง “มือ” ของเราเองเป็นเวลานาน หรือเป็นเชื้อที่มีสายพันธุ์รุนแรง ก็อาจก่อให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ หรือท้องร่วงรุนแรงได้
2. Staphylococcus aureus (สแตปฟิโลคอกคัส ออเรียส) พบได้ในเชื้อจากโรคติดเชื้อบนผิวหนัง ภาวะอาหารเป็นพิษ รวมไปถึงท้องร่วงที่เป็นผลจากสารพิษ Enterotoxin จากเชื้อตัวนี้ อาจจะพบได้ไม่บ่อยจากโทรศัพท์มือถือ แต่หากพบขึ้นมา ก็เป็นเชื้อที่รุนแรง และสามารถก่อให้เกิดโรคอันตรายขึ้นได้หลายชนิดเช่นกัน
3. Coliform (โคลิฟอร์ม) เป็นแบคทีเรียที่พบได้ในระบบทางเดินอาหารของคน และสัตว์ รวมถึงในดิน และอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หากทานอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้ อาจทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน หรืออาจมีไข้เพิ่มเติมได้
วิธีป้องกันเชื้อโรคจากโทรศัพท์มือถือ
1. เช็ดโทรศัพท์มือถือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะได้ ควรถอดกรอบโทรศัพท์ออก ปิดเครื่อง หยดน้ำยาทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือลงบนผ้า หรือสำลีที่สะอาด เช็ดหน้าจอโทรศัพท์ รวมถึงตัวเครื่องไปในทางเดียวกันโดยไม่วนกลับไปกลับมา จากนั้นใช้ผ้าอีกผืน หรืออีกด้านที่แห้งและสะอาด หรืออาจเป็นสำลี หรือกระดาษทิชชูอีกแผ่นเช็ดทำความสะอาดอีกครั้ง
2. ผสมน้ำยาทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือเอง โดยผสมไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) 40% กับน้ำสะอาด 60% เช็ดทำความสะอาดตัวเครื่อง ห้ามเช็ดหน้าจอโทรศัพท์เด็ดขาด เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
3. ห้ามใช้น้ำยา หรือของเหลวชนิดใดๆ ที่มีส่วนผสมของสารตัวทำลาย แอมโมเนีย หรือสารกัดกร่อน รวมไปถึงน้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือนอย่างน้ำยาเช็ดกระจก หรือน้ำยาทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านโดยเด็ดขาด เพราะอาจก่อความเสียหายให้กับหน้าจอ และตัวเครื่องได้
4. อย่าลืมทำความสะอาดตามซอกมุมต่างๆ ของเครื่อง เช่น ปุ่มกดเปิดปิดเครื่อง ปุ่มควบคุมเสียง ด้วยคอตตอนบัด หรือก้านพันสำลีเล็กๆ
5. ความทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ อาจจะทุกวัน วันเว้นวัน หรือทุกครั้งที่รู้สึกว่ามีความสกปรกที่โทรศัพท์มือถือ
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : พญ. อรอุมา บรรพมัย สาขาอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท